5 ปี ทศวรรษความปลอดภัยถนน ไทยสอบตกทุกด้าน

สังคม
17 มิ.ย. 58
15:54
233
Logo Thai PBS
5 ปี ทศวรรษความปลอดภัยถนน ไทยสอบตกทุกด้าน

ปีที่ 5 ของทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ไทยครองตำแหน่งรองแชมป์ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุดในโลก เผยรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด

คลิปรถยนต์ส่วนบุคคลเฉี่ยวชนรถตู้ด้วยความเร็วบนถนนมอเตอร์เวย์เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.2558) จนทำให้คนขับรถตู้เสียชีวิตทันที กำลังเป็นที่วิจารณ์ของสังคมถึงความประมาทของคนขับที่ขับแซงไปมาบนถนน เช่นเดียวกับอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะชนกับรถยนต์ส่วนบุคคล บริเวณถนนบรมราชชนนี ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2 คน ที่กระแสโลกออนไลน์ระบุว่าพฤติกรรมของผู้ขับรถ ทั้งสองเหตุการณ์ขับรถด้วยคึกคะนองเป็นเหตุให้ผู้ใช้ถนนคนอื่นไม่ปลอดภัย

ผศ.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก นักวิชาการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน วิเคราะห์สาเหตุการเกิดอบุัติเหตุพบว่าพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถที่ไม่ปลอดภัยพบมากขึ้น แต่เพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด จึงทำให้ผู้กระทำผิดพ้นผิดได้ง่าย ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่ต้องจำคุกถึง 20 ปี

พฤติกรรมของคนขับรถทั้ง 2 เหตุการณ์ ยังสอดคล้องกับรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ปี 2555 ที่พบว่า คนไทยขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิต ปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่ไทยเข้าร่วมทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2554-2563 แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จและติดอับดับ 2 ประเทศที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุดในโลก องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่าถ้าไทยต้องการลดอัตราการผู้เสียชีวิตให้ลดลงต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรแสนคนภายใน 5 ปี รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้

จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของไทย ปี 2555 ฉบับที่ 2 พบจำนวนผู้เสียชีวิต 23,601 คน ต่างจากรายงานในฉบับที่ 1 ปี 2554 ที่จำนวนผู้เสียชีวิตมีเพียง 8,764 คน จำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศมีทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านคน และยานพาหนะที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร สูงสุดคือ จ.ระยอง โดยสูงถึง 75 คนต่อประชากรแสนคน รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่ยังไม่เข้มงวดส่งผลให้จำนวนการไม่สวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเพิ่มสูงขึ้น

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ระบุว่าต้องมีองค์กรที่ทำงานในเรื่องนี้ มีการจัดตั้งมีการมอบหมายอย่างชัดเจน เช่น สถาบัน มีองค์กรที่มีบุคลากรที่เป็นมืออาชีพมาทำงาน มีงบประมาณสนับสนุนการทำงาน ทำงานตลอดเวลา ตลอดทั้งปี มีมาสเตอร์แพลน นี่เป็นข้อหนึ่งที่สำคัญ อีกข้อหนึ่ง ข้อที่ 2 ที่เห็นว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะลดความสูญเสียตรงนี้ได้คือการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น

ขณะที่งบประมาณเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขับเคลื่อนและดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนนประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เพราะไทยยังขาดแคลน เครื่องมือตรวจวัดแอลกอฮอล์ และเครื่องตรวจจับความเร็วให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง