จุดจบคู่รัก "จุงกิ-ฮเยคโย" กับความเปลี่ยนแปลงสังคมเกาหลียุคใหม่

ศิลปะ-บันเทิง
28 มิ.ย. 62
06:20
30,481
Logo Thai PBS
จุดจบคู่รัก "จุงกิ-ฮเยคโย" กับความเปลี่ยนแปลงสังคมเกาหลียุคใหม่
การดำเนินการหย่าร้างของคู่รักนักแสดงเกาหลีใต้ "ซง จุงกิ - ซง ฮเยคโย" กลายเป็นเรื่องที่แฟนคลับทั่วโลกจับตามอง แม้อดีตเกาหลีใต้จะมองการหย่าร้างเป็นเรื่องน่าอับอาย แต่ 3 จุดเปลี่ยนสำคัญทางสังคม ทำให้การหย่าร้างไม่ใช่เรื่องต้องห้ามอีกต่อไป

หลังจากวานนี้ (27 มิ.ย.2562) UAA ต้นสังกัด "ซง ฮเยคโย" ได้ออกมาคอนเฟิร์มการดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อยุติชีวิตคู่ระหว่างซง จุงกิ และซง ฮเยคโย โดยระบุเหตุผลสั้นๆ ว่า บุคลิกส่วนตัวแตกต่างกันเกินไป และไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ พร้อมขอให้แฟนคลับเคารพการตัดสินใจในครั้งนี้ ทำให้แฟนคลับทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับข่าวนี้เป็นอย่างมาก


(อ่านเพิ่มเติม : UAA ต้นสังกัดคอนเฟิร์ม "ซง ฮเยคโย - ซง จุงกิ" ยุติชีวิตคู่)

จากผลงานซีรี่ส์ Descendants of the Sun ที่สร้างให้ทั้งคู่กลายเป็นคู่ขวัญที่โด่งดัง ด้วยซีรี่ส์เรื่องนี้ได้ฉายใน 32 ประเทศทั่วโลก นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง โดยมีมูลค่าต่อยอดหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื้อหายังนำมาสู่ความคาดหวังในความรักของพระเอกนางเอกคู่นี้ จึงไม่แปลกว่า เพราะอะไรเรื่องราวของพวกเขาจึงเป็นที่สนใจตั้งแต่รักจนเลิก


สำหรับในประเทศเกาหลีการหย่าร้างมีกระบวนการทางกฎหมายรองรับ ไม่ใช่เพียงในมิติทางกฎหมาย แต่ยังอิงมิติทางสังคม ในมาตรา 834 ของกฎหมายครอบครัวเกาหลี กำหนดเอาไว้ว่า การหย่าร้างต้องเป็นไปโดยความยินยอมของคนทั้งคู่ ถ้ามีฝ่ายใดไม่ต้องการหย่า ก็ไม่ควรจะนำไปสู่การบีบบังคับให้ต้องจบลงด้วยการหย่าร้าง

กฎหมายแยกการหย่าออกเป็น 3 กรณี หย่าโดยตกลง มีการประนีประนอม ฟ้องหย่า โดยคู่รักที่จะกลายเป็นคู่ร้างต้องยื่นเรื่องตามกระบวนการของศาล และต้องไปปรากฏตัวหน้าศาลเพื่อแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันว่า ยินยอมพร้อมใจที่จะหย่ากันทั้งคู่

หลักการ  6 ข้อ ที่ใช้เป็นเหตุผลของการหย่า 

  1. นอกใจ

  2. ถูกทิ้งร้าง 

  3. ญาติผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทำร้ายอีกฝ่าย

  4. ญาติกับญาติทำร้ายกันเอง

  5. คู่สมรสหายสาบสูญ 3 ปี

  6. มีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตในฐานะคู่สมรสได้ต่อไป

ผู้หญิงเกาหลียุคใหม่กับการหย่าร้าง

ขณะที่การหย่าร้างถือเป็นความอับอายของคนเกาหลีในอดีต แต่สภาพเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมทุนนิยมมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงในเกาหลีมีบทบาททางการเงินมากขึ้น จากการมีอาชีพและรายได้ ลดการพึ่งพาการเงินจากสามี จึงกล้าที่จะหย่ามากขึ้น และเลือกที่จะไม่แต่งงาน อยู่กินกันแบบเงียบๆ มากขึ้น

รศ.ดำรงค์ ฐานดี อดีต ผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการหย่าร้างในสังคมเกาหลีว่าเป็นเรื่องต้องห้าม สมัยก่อนปี ค.ศ.1910 เนื่องจากเกาหลียังมีชนชั้น ชนชนชั้นสูงแต่งกับชนชั้นสูง ชนชั้นล่างแต่งกับชนชั้นล่าง ถ้าเกิดรักข้ามชนชั้น ต้องถูกประหาร สภาพคือชายเป็นใหญ่โดยสมบูรณ์ ถ้าผู้หญิงมีลูกให้ไม่ได้มีสิทธิถูกไล่ออกจากบ้าน

หลังจากปี 1910 ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองเกาหลี ก็เริ่มสลายวัฒนธรรมเดิมๆ ไปบ้าง เช่นเกาหลีไม่ต้องอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่แยกออกมาได้มากขึ้น จนเมื่อเกาหลีตั้งประเทศปี 1948 วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ยังอยู่ ผู้ชายไปเรียน ผู้หญิงทำงานในโรงงาน เมื่อแต่งงานผู้หญิงต้องเข้าบ้านผู้ชาย กฎเกณฑ์ คือ ผู้ชายทำงานนอกบ้าน งานในบ้านผู้หญิงทำ เมื่อผู้ชายกลับบ้านผู้หญิงต้องถอดเสื้อให้ เอาน้ำมาให้ งานในบ้านเข้มงวดถึงขนาดว่า การอุ้มลูกยังต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายห้ามอุ้ม 


ถ้าผู้หญิงเรียนจบเท่ากับผู้ชายจะได้เงินเดือนแค่ร้อยละ 60 ของผู้ชายเท่านั้น และงานที่ทำ คือ การเสิร์ฟน้ำให้ผู้ชาย เมื่อผู้หญิงที่ทำงานแล้วแต่งงานหรือตั้งครรภ์ สังคมในที่ทำงานจะกดดันให้ต้องลาออกเพื่อไปทำงานบ้าน

ในสังคมเกาหลียุคใหม่ทัศนคติเรื่องการหย่าได้รับการยอมรับมากขึ้น ถึงขั้นว่า มีศัพท์แสลงในภาษาเกาหลีว่า ดล ซิง (돌싱) มาจากคำว่า รีเทิร์น ซิงเกิล หรือ กลับมาเป็นโสดอีกครั้ง ซึ่งจะใช้ในคนที่เคยแต่งงานมาแล้ว

ทุนนิยมทำให้การหย่าร้างเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับทัศนคติเรื่อง "Dual Income No Kids" หรือ DINKs คนเกาหลี ตัดสินใจไม่มีลูกเอง ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ การศึกษาสูง

จุดเปลี่ยนสังคมเกาหลี "หย่าร้าง" ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม

สำหรับจุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมเกาหลีคาดว่าจะมี 3 ครั้งใหญ่ คือ เมื่อเกาหลีเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจเป็นประเทศอุตสาหกรรม ช่วงปี 1970-1980 บทบาทของผู้หญิงเข้ามาทำงานมากขึ้น

จุดเปลี่ยนที่ 2 คือ การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลทหารเป็นรัฐบาลพลเรือนในปี 1992 กระแสประชาธิปไตยเต็มใบเข้ามาในเกาหลี ประธานาธิบดี คิม ยองซัม เริ่มให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นรัฐมนตรี มีกฎหมายต่างๆ ที่ให้สิทธิผู้หญิงมากขึ้น

จุดเปลี่ยนที่ 3 ที่สำคัญที่สุดคือ ปี 1997 วิกฤตเศรษฐกิจเกาหลี เป็นหนี้ไอเอ็มมหาศาล ประธานาธิบดีคิม แดจุง เข้ามาแก้ไขวิกฤต จึงมีแนวคิดการขายวัฒนธรรมเกาหลีส่งออก โดยส่งนักวิจัยไปต่างประเทศเก็บข้อมูลว่าประเทศกลุ่มเป้าหมายชอบอะไร เช่น ไทยก็มีนักวิชาการเกาหลีเข้ามาทำวิจัย แล้วส่งข้อมูลกลับไปยังผู้ผลิต


การเติบโตของวงการบันเทิงเกาหลีทำให้ผู้หญิงมีบทบาทโดดเด่นเท่ากับผู้ชาย แล้วกลายเป็นลูกโซ่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและการทำศัลยกรรมเกาหลีเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับความนิยมในการการท่องเที่ยวเกาหลี เมื่อผู้หญิงทำงานหาเงินได้เองไม่ต้องทำงานบ้านรับใช้ผู้ชายมีปากมีเสียงมากขึ้นสังคมเปลี่ยน กฎหมายหย่าร้างเอื้ออำนวย การหย่าร้างในสังคมเกาหลีจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป โดยระยะหลังสังคมเกาหลีเปลี่ยนไปมาก โดยมีงานวิจัยว่าคนเกาหลี 6 ใน 10 คน ต้องการสร้างฐานะทางการเงิน ให้ดีกว่า การมีครอบครัวที่สมบูรณ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง