"อรยุพา" เปิดเคล็ด (ไม่) ลับบอกลาขยะพลาสติก

Logo Thai PBS
 "อรยุพา" เปิดเคล็ด (ไม่) ลับบอกลาขยะพลาสติก
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ "อรยุพา สังขะมาน" หญิงผู้ใช้ชีวิตทุกวันด้วยการปลอดพลาสติก กับประสบการณ์เอาถุงผ้าใส่ปลาย่างทั้งตัวเพราะต้องการปฏิเสธถุงพลาสติก

วันนี้ (3 ก.ค.2562) เป็น “วันปลอดถุงพลาสติกสากล” ที่หลายประเทศทั่วโลกพร้อมใจกันงดใช้ถุงพลาสติก ทำให้ไทยพีบีเอสออนไลน์นึกถึง  "อรยุพา สังขะมาน" หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หญิงผู้ใช้ชีวิตทุกวันด้วยการปลอดพลาสติก 

เอาถุงผ้าใส่ปลาย่างขึ้นรถเมล์ เป็นหนึ่งในวีรกรรมปลอดพลาสติกอย่างเด็ดขาดของอรยุพา ที่เล่าประสบการณ์ให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ฟังว่า เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากเริ่มตั้งข้อจำกัดกับตัวเอง ว่าอันนี้ไม่เอา อันนั้นไม่เอา โดยหลังจากไปซื้อปลาย่างโดยปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก ทั้งๆ ที่แม่ค้าก็พยายามจะให้ ก็เริ่มคิดว่าเราทำอะไรอยู่

น้ำจากปลาย่างไหลซึมออกมาจากถุงผ้าตอนที่อยู่บนรถเมล์ แล้วเริ่มเลอะถุงผ้า เลอะไปจนถึงกางเกง ตอนนั้นทำให้คิดได้ว่ามันเยอะเกินไปหรือเปล่า มันเริ่มไม่ดีแล้ว ทำไมเราไม่ทำอะไรให้พอดี


กระเป๋าผ้า กล่องอาหาร และแก้วน้ำส่วนตัวเป็นสิ่งของคู่ใจของอรยุพาก่อนออกจากบ้านเสมอ การยื่นกล่องอาหารส่งให้พ่อค้า แม่ค้าเพื่อปฏิเสธถุงพลาสติกเป็นกิจวัตรประจำวันของหญิงรักษ์โลกคนนี้ ที่ดูเหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด

เวลาไปซื้อหมูปิ้ง บางครั้งเอากล่องไปใส่ เขาก็ยังใส่ถุงให้ แล้วก็มองเราแปลกๆ ซึ่งเราก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร เพราะคิดว่าได้มาแล้วก็ต้องใช้ เลยเอาไปล้างและตาก เพราะเดี๋ยวนี้มีคนที่เอาถุงพลาสติกไปอัดส่งโรงงานทำอะไรต่อได้อีกเยอะ

อรยุพา ย้ำว่า การปฏิเสธถุงพลาสติกไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะต้องเข้าใจคนอื่นด้วยว่าการใส่ถุงพลาสติกเป็นหนึ่งในบริการที่ส่งต่อกันมาอย่างไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อหากเราปากไม่ไวพอ ก็จะได้รับถุงพลาสติกทันที ซึ่งเมื่อก่อนจริงจังกับการปฏิเสธถุงพลาสติกมาก แต่ตอนหลังพอได้มา ก็คิดมากขึ้นว่าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง ใส่ขยะต่อได้ไหม เมื่อรับมาแล้วก็ควรจัดการให้เรียบร้อย 

น้ำเน่าท่วมบ้าน จุดเริ่มต้นบอกลาพลาสติก

อรยุพา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นการบอกลาพลาสติกว่า เมื่อปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพ ซึ่งน้ำที่ท่วมบ้านนั้นไม่ใช่น้ำธรรมดาแต่เป็นน้ำเน่าที่แม้ว่าจะผ่านไปหลายปีกำแพงบ้านก็ยังมีคราบรอยดำหลงเหลืออยู่ จึงทำให้ตัดสินใจทำตัวให้เป็นภาระของโลกน้อยลง

การใช้ชีวิตแบบหญิงรักษ์โลกเริ่มขึ้นจากการขึ้นรถเมล์ไปทำงาน ก่อนเปลี่ยนมาเป็นการขี่จักรยานเพราะส่วนตัวเป็นคนชอบปั่นจักรยาน และทำงานอยู่ในองค์กรอนุรักษ์ จึงรู้สึกว่าควรทำอะไรที่ช่วยโลกได้เล็กน้อยก็ยังดี โดยที่ไม่ต้องรอนโยบายของรัฐ

เริ่มจากตัวเองก่อน สำรวจว่าเราทำอะไรได้บ้าง จึงเริ่มปั่นจักรยานไปทำงาน ช่วงอาทิตย์แรกเรียนรู้มากเลย เพราะถนนบางที่ก็มีหลุมลึก ปั่นไม่ได้จริงๆ ต้องเอาขึ้นทางเท้า

จากบ้านไปถึงที่ทำงาน ระยะทางค่อนข้างไกล ทำให้ต้องไปต่อรถไฟฟ้า อรยุพาพับจักรยานที่พับได้เพียงเล็กน้อยขึ้นรถไฟฟ้า จนทำให้คนบนรถไฟฟ้าสอบถามว่าพับได้มากกว่านี้ไหม เมื่อตอบว่าพับไม่ได้ ช่วงแรกก็มีคนไม่พอใจ แต่เมื่อเขาเห็นบ่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น

จากน้ำยาล้างจานไปถึงผ้าอนามัยทำเอง

นอกจากการให้แม่ทำกับข้าวใส่กล่อง และพกแก้วน้ำ หลอด กระเป๋าผ้าอยู่เสมอแล้ว อรยุพายังมีกิจวัตรสำคัญที่บ้าน นั่นคือ การทำน้ำยาอเนกประสงค์จากเศษผลไม้และเปลือกผลไม้รสเปรี้ยว ทั้งน้ำยาล้างจาน น้ำยาขัดห้องน้ำ รวมถึงน้ำยาซักผ้าเองด้วย ไม่ใช่เพียงเท่านั้นเศษอาหารเหลือจากแต่ละมื้อก็ถูกนำมาหมักเป็นปุ๋ยเพื่อบำรุงผักสวนครัวที่ปลูกไว้รับประทานเองในบ้านอีกด้วย ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้นอกจากช่วยโลกแล้วยังช่วยให้เราประหยัดได้มาขึ้นด้้วย

ภาพ : Ornyupa Sangkamarn

ภาพ : Ornyupa Sangkamarn

ภาพ : Ornyupa Sangkamarn


ผ้าอนามัยซักได้
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อรยุพาเย็บเองกับมือ แม้จะพยายามใช้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่มาก โดยต้องเปลี่ยนบ่อยครั้งขึ้นเพราะมันชุ่มได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องเลือกใช้ในบางเวลาและโอกาสที่เหมาะสมจริงๆ อย่างงานมูลนิธิฯ บางครั้งก็ต้องลงพื้นที่จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ผ้าอนามัยปกติ

ภาพ : Ornyupa Sangkamarn

ภาพ : Ornyupa Sangkamarn

ภาพ : Ornyupa Sangkamarn


สุดท้าย อรยุพา ฝากถึงคนที่คิดจะเริ่มปฏิเสธพลาสติกว่า ตอนที่เริ่มมันอาจจะยาก แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่มสนุกและอยากชวนคนอื่นทำไปด้วยกัน แต่บางครั้งการพูดเพื่อชวนอาจไม่ได้ผล สิ่งที่ทำได้คือลงมือทำให้คนอื่นเห็น แต่ไม่ควรทำอะไรที่มันสุดโต่งจนเกินไป ทำอะไรที่ทำได้ง่ายๆ อย่างการแยกขยะก่อนทิ้งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ช่วงแรกแม่ไม่เข้าใจ แต่พอเราทำให้เขาเห็นเขาก็เริ่มแยกถุงขยะพลาสติก แยกเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก

พอเริ่มปฏิเสธมากเกินไป มันกลายเป็นเรื่องไม่สนุกไปแล้ว ถ้าวันไหนลืมพกถุงผ้าเราก็รับถุงพลาสติกมาแล้วใช้มันให้คุ้มค่ากับที่มันเกิดมาเป็นถุงพลาสติกมากที่สุด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิกฤต! ขยะฆ่าเต่าทะเลหายาก 3 เดือนตาย 4 ตัว

ทส.จ่อออกกฎหมายเก็บภาษีพลาสติก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง