สูญเสีย! "พะยูน" อายุ 70 ปีทะเลตรัง ตายตัวที่ 7

สิ่งแวดล้อม
5 ก.ค. 62
18:14
5,823
Logo Thai PBS
สูญเสีย! "พะยูน" อายุ 70 ปีทะเลตรัง ตายตัวที่ 7
ข่าวร้าย! พะยูนตัวผู้ อายุ 70 ปีลอยตายกลางทะเล จ.ตรัง ตัวที่ 7 ของปีนี้ ส่วนจ.กระบี่ เจอซากโลมาหัวบาตร ถูกคลื่นซัดเข้าเกาะลันตา สัตวแพทย์ เร่งผ่าซากพิสูจน์สาเหตุตาย อธิบดี ทช.ยอมรับสูญเสียสัตว์ทะเลหายากขนาดใหญ่ทั้งวาฬบรูด้า วาฬหัวทุย เต่า โลมาตายเพิ่ม

วันนี้ (5 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชาย ฝั่งที่ 10 จ.ตรัง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นำซากพะยูน ตัวผู้อายุประมาณ 70-80 ปี ความยาวเกือบ 3 เมตร รอบลำตัว 170 เซนติเมตร น้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัม มาลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรสิเกา หลังรับแจ้งจากชาวประมงเจอพะยูน ลอยตายไม่ทราบสาเหตุบริเวณอ่าวสิเกา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คาดว่าตายมาแล้ว 4-5 วัน 

จากนั้นเจ้าหน้าที่นำซากพะยูน ส่งต่อให้ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต ผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย โดยปีนี้พบพะยูนตาย 7 ตัวแล้ว

 

ส่วนที่จ.กระบี่ นายสมบูรณ์ เต็มชื่น นายอำเภอเกาะลันตา พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และเจ้าหน้าที่ประมง ตรวจสอบซากโลมาหัวบาตรเกยตื้นตาย ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา ขนาดความยาว 130 เซนติเมตร น้ำหนัก 20 กิโลกรัม คาดตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 วัน พบลำตัวมีรอยบาดแผล เจ้าหน้าที่ตัดชิ้นเนื้อส่งพิสูจน์หาสาเหตุการตาย

เมื่อ 3 วันก่อน เพิ่งเจอซากวาฬหัวทุย และโลมาหัวบาตร ถูกคลื่นซัดลอยมาติดชายฝั่ง ซึ่งเป็นช่วงหน้ามรสุม แต่ไม่บ่อยนักที่จะเห็นสัตว์ทะเลทั้ง 2 ชนิดนี้ตายพร้อมกัน และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง  สูญเสีย "วาฬหัวทุย" สัตว์คุ้มครองเกยตื้นตายอีก 1 ตัวถูกตัดกราม

เปิดสถิติสัตว์ทะเลหายากตายปี 61 สูงถึง 672 ตัว

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)  ยอมรับว่าช่วงนี้เกิดการเกยตื้นของสัตว์ทะเลบ่อยครั้ง ซึ่งภาพรวมขณะนี้มีสัตว์ทะเลหายากจำนวนมากตามที่ปรากฎในข่าวว่าพบในพื้นที่ต่างๆ ล่าสุดมีการเกยตื้นพบวาฬบรูด้า 3 ตัว วาฬหัวทุย 1 ตัว และพะยูน 3 ตัว ช่วยชีวิตได้ 2 ตัว คือ มาเรียม และยามีล

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้นักวิชาการผ่าพิสูจน์ซากทั้งหมด ไม่พบถุงพลาสติกในท้องวาฬบรูด้าทั้ง 3 ตัว บ่งชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ขยะพลาสติกในท้องทะเลดีขึ้น ส่วนการผ่าซากวาฬหัวทุย จะพบพลาสติก 4 ชิ้น แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตาย เพราะอาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือการตายแบบเฉียบพลัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง วิกฤต! ขยะฆ่าเต่าทะเลหายาก 3 เดือนตาย 4 ตัว

 

ทั้งนี้ ทช.มีแผนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และจิตอาสา เพื่อให้ความช่วยเหลือ และดูแลกรณีสัตว์ทะเลเกยตื้น อย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด ขณะนี้ประชาชนให้ความสนใจและช่วยกันดูแล เมื่อพบสัตว์ทะเลเกยตื้นทั้งที่มีชีวิต หรือตายแล้ว จะรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อให้ความช่วยเหลือ

คนสงสัยว่าทำไมวาฬจมน้ำตายได้ เนื่องจากวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต้องหายใจ หากช็อก อาจทำให้ตายทันที เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

 

ภาพ : Manoch Wongsuryrat

ภาพ : Manoch Wongsuryrat

ภาพ : Manoch Wongsuryrat

 

ข้อมูลจากทช.รายงานว่า ในปี 2561 มีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตาย จำนวน 672 ตัว เทียบกับปี 2561 จำนวน 565 ตัว ส่วนปี 2559 จำนวน 446 ตัว ทั้งนี้หากแยกชนิดสัตว์ที่เกยตื้นตาย พบว่าพะยูน และโลมากว่า 90% จะตายแล้ว ส่วนเต่าทะเลเกยตื้นแต่ยังมีชีวิตมากกว่า 50% ส่วนสาเหตุมาจากเครื่องมือประมง  ขยะ และป่วยตาย 

สาเหตุการตายของสัตว์ทะเลส่วนใหญ่ เกิดจากเครื่องมือประมงพันรัดบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ส่วนอีก 10% เกิดจากขยะพลาสติก ขณะที่การตายจากธรรมชาติถือว่ามีอัตราค่อนข้างสูง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทช.สรุปขยะไม่ใช่ต้นเหตุตาย "วาฬหัวทุย" คาดป่วย-รอยฉลามกัด

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ พระราชทานชื่อพะยูนกระบี่ "ยามีล"

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง