"มาเรียม" ตอบสนองการเลี้ยงดี-เปิดรับอาสาเสริมทีมดูแล

สิ่งแวดล้อม
6 ก.ค. 62
16:06
1,489
Logo Thai PBS
"มาเรียม" ตอบสนองการเลี้ยงดี-เปิดรับอาสาเสริมทีมดูแล
ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน เปิดเผยว่า ลูกพะยูน "มาเรียม" ล่าสุดมีสภาพร่างกายแข็งแรง ตอบสนองการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ซึ่งการดูแลในทะเลเปิดเป็นสิ่งท้าทาย ขณะนี้แบ่งทีมดูแลลูกพะยูนทั้ง 2 ตัว จึงต้องเปิดรับอาสาสมัครเพิ่ม

นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ให้สัมภาษณ์กับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงสภาพร่างกายและการปรับตัวของลูกพะยูน "มาเรียม" ที่เจ้าหน้าที่ดูแลในแหล่งธรรมชาติที่เกาะลิบง จ.ตรัง ว่า ขณะนี้มาเรียมมีอาการดีขึ้น ร่างกายแข็งแรง แต่ยังผอม อีกทั้งยังตอบสนองการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี แต่มาเรียมจะหลีกเลี่ยงการเข้าหาคนแปลกหน้า โดยอยู่ระหว่างการเรียนรู้ที่จะอยู่รอดในธรรมชาติ แม้บางครั้งจะโดนแมงกะพรุนบ้าง แต่ก็ไม่แสดงอาการแพ้และหายได้เอง ซึ่งถือเป็นสิ่งดีที่จะทำให้มาเรียมค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองไปเรื่อยๆ

ส่วนการปรับตัวในระยะต่อไป มาเรียมจะต้องเริ่มว่ายน้ำห่างออกไปเรื่อยๆ แทนที่จะอยู่แค่ในรัศมี 100 เมตร ก็จะว่ายออกไปไกลมากขึ้น จนหายไปเอง โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ว่ามาเรียมจะปรับตัวได้เร็วแค่ไหน เพราะพะยูนเป็นสัตว์ที่ปรับตัวในธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของพะยูนเกือบ 90% เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์เป็นหลักที่ทำให้มาเกยตื้นหรือเสียชีวิต

ขณะเดียวกันการดูแลมาเรียมในทะเลเปิดเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ทั้งหมดทำตามหลักการเพื่อให้มาเรียมสามารถอยู่ในธรรมชาติได้ดีที่สุด ส่วนการดูแล "ยามีล" ลูกพะยูนวัย 3 เดือนอีกตัวหนึ่งในบ่ออนุบาลที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะอันดามัน จ.ภูเก็ต มีการบริหารจัดการง่ายกว่าการดูแลมาเรียมเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังต้องติดตามอาการและดูแลลูกพะยูนทั้ง 2 ตัวอย่างใกล้ชิด พร้อมเพิ่มกำลังอาสาสมัครช่วยเจ้าหน้าที่และทีมสัตว์แพทย์

เสริมทีมดูแล "มาเรียม-ยามีล"

นายก้องเกียรติ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เปิดรับอาสาสมัครเพิ่มเติม เนื่องจากต้องแบ่งทีมดูแลเป็น 2 ทีม คือทีมดูแลมาเรียมที่เกาะลิบง จ.ตรัง และอีกหนึ่งทีมดูแลยามีลที่ศูนย์วิจัยฯ จ.ภูเก็ต ซึ่งงานอาสาคือการดูแลสัตว์ป่วย เป็นงานหนักที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน และจะต้องทำงานกับน้ำตลอดเวลา จึงต้องแบ่งการทำงานเป็นกะ เพื่อให้ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยผู้ที่จะมาเป็นอาสาสมัคร อันดับแรกต้องมีใจรัก มีความทุ่มเทอย่างมากและต้องมีความกล้า โดยเฉพาะการดูแลมาเรียมในแหล่งธรรมชาติ เพราะบางครั้งจะต้องอยู่ในน้ำลึก รวมถึงต้องมีทักษะการเอาตัวรอด เช่น ว่ายน้ำได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยงานได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน เนื่องจากการฝึกคนๆ หนึ่งให้คุ้นเคยและเริ่มช่วยเจ้าหน้าที่ได้ ต้องใช้เวลา จึงไม่รับอาสาสมัครที่มาอยู่ในระยะสั้น ซึ่งที่ผ่านมามีระบบสกรีนอาสาสมัครค่อนข้างดีและมีเงื่อนไขชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง