วิเคราะห์นโยบายรัฐบาลประยุทธ์ 2/1

การเมือง
7 ก.ค. 62
10:22
9,179
Logo Thai PBS
วิเคราะห์นโยบายรัฐบาลประยุทธ์ 2/1
ในสัปดาห์นี้ น่าจะมีความคืบหน้าและชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับร่างนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 หลังช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดความวุ่นวายในการจัดโผ ครม.หรือ การวางตำแหน่ง ครม.ที่ไม่ลงตัว แต่ว่าล่าสุดเหมือนน่าจะจบแล้ว ตามที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้

ตามกระบวนการแล้ว เมื่อ ครม.ชุดใหม่ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนในการปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นภายใน 15 วันจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่นโยบายที่ว่านั้น จะเป็นแบบไหน อย่างไร นโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล จะถูกผลักดันเป็นนโยบายของรัฐบาลบ้าง

นโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาไม่ว่าเป็นนโยบายการหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใด แต่ว่าสุดท้ายประชาชนซึ่งจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงเพราะเมื่อเทียบเคียงนโยบายแต่ละพรรคก็ไม่ได้ต่างกันมาก โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจฐานราก แก้ไขปัญหาปากท้อง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

พรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ประกอบไปด้วย 19 พรรคการเมืองด้วยกัน ซึ่งหลังจากที่ ครม.ประยุทธ์ 2/1 เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ตามกฎหมายต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้รับทราบภายใน 15 วัน ซึ่งจากนโยบายแต่ละพรรคการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาล หรือ ฝ่ายค้าน ล้วนแต่มีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้ประชาชน

แต่นโยบายของรัฐบาลที่จะเป็นรูปเป็นร่างและจะแถลงต่อรัฐสภานั้น นอกจากจะเป็นนโยบายของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลที่หาเสียงไว้ และผลักดันให้เกิดขึ้นตามกระทรวงที่ได้รับโควตาแล้ว เชื่อว่าแนวนโยบายอื่น ๆ ที่คล้ายกันของทั้ง 19 พรรคก็จะนำมาจัดทำเป็นนโยบายรัฐบาลด้วย

 

 

อย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล พรรคที่มีรัฐมนตรีว่าการกว่า 10 กระทรวง นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคได้เปิดกรอบร่างนโยบาย 12 ด้าน ที่จะต้องทำเร่งด่วนในช่วง 1 ปีแรกนี้ คือการสานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอาจจะเป็นการเพิ่มจำนวนคนที่ได้รับ หรือขยายสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมมารดาตั้งครรภ์ นโยบายมารดาประชารัฐ การจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ซึ่งนโยบายนี้สอดคล้องกับนโยบายพรรคร่วมพรรคประชาธิปัตย์ที่หาเสียงไว้ว่า "เกิดปั๊บรับแสน"

 

 

นโยบายสร้างโอกาสทางการศึกษา ที่พรรคนี้มีรัฐมนตรีถึง 2 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา เช่น ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเรียนฟรีถึงปริญญาตรี หรือการลดดอกเบี้ย กยศ.และก็สอดคล้องตรงกันกับนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินทางการศึกษา ไม่คิดดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ และพักหนี้ 5 ปี  และยังมีแนวนโยบายที่จะสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาด้วยระบบการศึกษาออนไลน์

นโยบายการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และปรับทักษะให้สามารถทำงาน และดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นโยบายบ้านล้านหลังเพื่อให้ประชาชนมีบ้านที่อยู่อาศัย นโยบายพักหนี้กองทุนหมู่บ้าน

 

 

พรรคร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีรัฐมนตรีว่าการ 3 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 กระทรวง  พรรคนี้คาดว่าน่าจะเน้นหนักไปที่นโยบายด้านการเกษตร เช่น การประกันรายได้ เกษตรกร ประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ราคายาง 60 - 65 บาทต่อกิโลกรัม และราคาปาล์ม 4-5 บาท ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ข้อเสนอพรรคภูมิใจไทยยังมีเรื่องการออกกฎหมายรองรับ การจัดระบบแบ่งปันผลกำไร สินค้าเกษตรอย่างเป็นธรรม

ส่วนพรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมที่มีโควตากระทรวงหลักในรัฐบาลคือ กระทรวงสาธารณสุข คมนาคม และท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่านโยบายที่จะผลักดันหลัก ๆ ตามที่หาเสียงไว้ คือ นโยบายกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์และทำโครงการอนุญาตให้ปลูกได้ แต่ต้องมีค่าธรรมเนียมต่อต้นโดยการปลูกนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรกิโลกรัมละ 70,000 บาท และยังมีนโยบายของภูมิใจไทยที่คล้ายกับพรรคพลังประชารัฐ คือ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ  ,ยกระดับ อสม.ประจำหมู่บ้าน , ยกระดับระบบการแพทย์ทางไกล หรือการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางแพทย์ หรือ โทรเวชกรรม

 

 

ในฐานะที่เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยว คาดว่า “บุรีรัมย์โมเดล” จะถูกนำมาทำเป็นต้นแบบในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาการเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ของไทยเพื่อสร้างโอกาสและสร้างระบบเศรษฐกิจท่องเที่ยวชุมชน

 

 

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาเน้นแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 7 ด้าน คือ 1.ด้านการเกษตร เน้นการตลาดนำเกษตร ลดต้นทุนและใช้เทคโนโลยีทันสมัย ส่งเสริมการทำงานของอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) คนละ 1,000 บาทต่อเดือน 2.ด้านการศึกษา เตรียมความพร้อมและจัดการศึกษาให้คนไทยตั้งแต่แรกเกิด ( 0-6 ขวบ) จนตลอดชีวิต การศึกษาไม่ผันแปรตามการเมือง 3.ด้านสังคม กองทุนมรดกเงินล้าน ทุนสำรองยามยาก ขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี

4.ด้านสาธารณสุข สนับสนุนการทำงานและเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม.คนละ 1,500 บาทต่อเดือน สร้างคลินิกสุขภาพ 4 มุมเมือง 5.ด้านการกระจายอำนาจ เพิ่มงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อลงทุนใน อปท.ที่ขาดแคลนอย่างน้อย 10 ล้านบาท 6.ด้านการท่องเที่ยว สร้างความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ต่อเนื่อง 7.ด้านพัฒนาเมือง ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้สะดวก

ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอด 4 ปี นับจากนี้มีรายงานว่า รัฐบาลจะยึดหลักการสำคัญ 3 ประการ  คือ น้อมนำปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการบริหารประเทศ ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้ประชาชนไทยมีความมั่นคงบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ทุกนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ต้องเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ สอดรับการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ โดยต้องบอกแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะใช้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง