ขนส่งเชียงใหม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีเด็ก 13 ปี ขี่บิ๊กไบค์

ภูมิภาค
9 ก.ค. 62
07:26
1,615
Logo Thai PBS
ขนส่งเชียงใหม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีเด็ก 13 ปี ขี่บิ๊กไบค์
ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเด็กอายุ 13 ปี ขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ และเกิดอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์ จ.เชียงใหม่ ว่าทำใบขับขี่หรือไม่ ขณะที่ครอบครัวขอโทษสังคม ยืนยันลูกผ่านการอบรมก่อนการขับขี่

ความคืบหน้าเหตุเด็กชายวัย 13 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ เกิดอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์อีกคันบนถนนสายแม่ออน-เชียงใหม่ หน้าตลาดศรีอรุณ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 คน เด็กชายอายุ 13 ปี ได้รับบาดเจ็บข้อเท้า และกระดูกเท้าหักเท่านั้น และได้ทำการผ่าตัดเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันเกิดเหตุ

ตาของเด็ก 13 ปียันลูกผ่านการอบรม

นายสุวิทย์ เทพาขันธ์ ตาของเด็กชายอายุ 13 ปี ที่ขับขี่บิ๊กไบค์ กล่าวว่า หลานชายขี่รถมานานพอสมควรผ่านการอบรมโดยมีครูฝึกมาแล้ว โดยเรียนการขับขี่ที่สนามมีมาตรฐาน ผ่านการเรียนหลักสูตรพื้นฐานและหลักสูตรระดับสูง เคยลงแข่งขันได้ถ้วยรางวัลมาแล้ว 4 -5 ใบ รถคันที่เกิดอุบัติเหตุก็เคยใช้ลงแข่งขัน พร้อมยอมรับว่าเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นและขอโทษสังคมหากทำอะไรผิดไป

ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ถึงการที่ ด.ช.อายุ 13 ขวบ แต่ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ บนถนนทางหลวง เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายหรือไม่ แม้นายสุวิทย์ จะระบุว่า ครอบครัวยินยอมให้หลานชายขับขี่และซื้อให้ อีกทั้งส่งอบรมเรียนการขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูงจนมีความชำนาญพอสมควร รวมทั้งเคยลงแข่งมาแล้วหลายสนามและได้รางวัลมาด้วย ซึ่งหากพิจารณาตามกฎหมาย การอนุญาตให้มีใบขับขี่จักรยานยนต์ส่วนบุคคลแบบชั่วคราวไม่เกิน 110 ซีซี ผู้ขับขี่สามารถทำได้ ต้องมีอายุ 15 ปี บริบูรณ์ , อายุ 18 ปี บริบูรณ์ ทำใบขับขี่จักรยานยนต์ส่วนบุคคลได้ และอายุ 20 ปี บริบูรณ์ สามารถทำได้ใบขับขี่จักรยานยนต์ส่วนบุคคลสาธารณะ

ขนส่งเชียงใหม่ตรวจสอบใบขับขี่

นางพรรณี พุ่มพันธ์ รักษาราชการแทนขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า กรณีนี้ ด.ช.อายุ 13 ปี อายุน้อยกว่ากฎหมายกำหนด และขับขี่จักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์เกิน 110 ซีซี ซึ่งบิ๊กไบค์จะมีขนาดเครื่องยนต์ 250 ซีซี ขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีการทำใบขับขี่หรือไม่ พร้อมประสานกับโรงเรียนและผู้ปกครองต่อเนื่องเรื่องการสอดส่องดูแลกลุ่มนักเรียนที่อายุไม่ถึงและไม่มีใบขับขี่เพื่อป้องกันอันตราย

 แม้บทลงโทษสำหรับเด็กและผู้ปกครองที่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับรถจะยังไม่มีแต่ขณะนี้กรมการขนส่งทางบก กำลังเสนอระเบียบกฎกระทรวงฉบับใหม่ให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ระบุว่า ยังไม่มีโทษเรื่องการให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับรถแต่มีการอ้างถึง กฎหมาย 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ 2522 กำหนดบทลงโทษผู้ไม่มีใบขับขี่ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท พระราชบัญญัติจราจรทางบก แก้ไขปรับปรุง 2562 ที่กำหนดเรื่องการขับขี่รถบนท้องถนน กำหนดการหยุดรถหากฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษปรับไม่เกิน 500 บาท เป็นต้น

รวมถึงสามารถถูกคู่กรณีฟ้องร้องทางอาญาและแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายได้เช่นกัน ทั้งนี้ มีบทความทางวิชาการของกองกฎหมาย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่เขียนเรื่องการทบทวนอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิขอใบอนุญาตจักรยานยนต์ชั่วคราวที่มีสาระสำคัญถึงเหตุผลที่ห้ามทำใบขับขี่ ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะมีการศึกษาที่ชัดเจนว่าจะเกิดผลใน 5 ประเด็น คือ

1.เป็นนักขับมือใหม่ 2.ขาดประสบการณ์ในการขับขี่ 3.ขาดวุฒิภาวะเพราะการขับขี่บนถนนจริงมีกระบวนการซับซ้อน ต้องอาศัยประสาทสัมผัสรับรู้พร้อมกันหลายอย่าง ด้วยวัยนี้อาจจะยังปรับตัวไม่ทันหากเกิดภาวะฉุกเฉินก็จะพบว่าเสียชีวิตมากกว่าในวัยที่เหมาะสม 4.มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายจากแรงขับฮอร์โมนเพศมากกว่าวัยอื่น เช่น ขับรถเร็ว แซงหรือหยุดแบบกระชั้นชิด เลี้ยวตัดหน้าเป็นต้น มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ และใช้ยา 5.ก่อนขับขี่ และไม่นิยมใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเสนอ ทบทวนการขอใบขับขี่จักรยานยนต์ แบบชั่วคราว ใหม่ เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่ดีกว่านี้

 

 

ผู้ปกครองเข้าข่ายส่งเสริมเด็กประพฤติเสี่ยง

นอกจากนี้นายธวัชชัย ไทยเขียว ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ธวัชชัย ไทยเขียว" ถึงกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า ผมว่าบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กรายนี้เข้าข่ายเป็นผู้ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดต้องรับโทษ

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (3) บัญญัติว่า..ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้น

กรณนี้ผมมิได้คิดซ้ำเติม แต่อยากให้สังคมตระหนักรู้ว่า นอกจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น

แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจตามมาตรา 23 แล้วยังต้องรับโทษกรณีที่เป็นผู้ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดอีกด้วย เพื่อจะได้ไปอธิบายเด็กในกำกับหรือปกครองว่าไม่สามารถให้ตามที่เด็กร้องขอได้เพราะมันผิดกฎ รวมถึงจะทำให้กลุ่มพ่อแม่รังแกฉันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะได้ให้ความระมัดระวังมากขึ้นครับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง