"ธนาธร" พบปะสมาชิกรัฐสภายุโรป-ผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์

การเมือง
10 ก.ค. 62
12:21
739
Logo Thai PBS
"ธนาธร" พบปะสมาชิกรัฐสภายุโรป-ผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และทีมอนาคตใหม่ เดินทางไปพบปะนายอลิน สมิธ สมาชิกรัฐสภายุโรป และลอทเทอร์ ลิชท์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

วันนี้ (10 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค และนายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจ เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยได้พบปะกับนักการเมืองและข้าราชการของสหภาพยุโรป เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลก ท่ามกลางภาวะสงครามการค้าระหว่างจีน–สหรัฐฯ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง และแสวงหาความร่วมมือในอนาคต เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและสหภาพยุโรป

 

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

 

ในการเดินทางเยือนกรุงบรัสเซลส์ครั้งนี้ นายธนาธรและคณะได้พบกับนายอลิน สมิธ สมาชิกรัฐสภายุโรป และหนึ่งในคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของรัฐสภายุโรป หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กับนายสมิธได้พูดคุยกันถึงผลการเลือกตั้งในไทยและรายงานความผิดปกติเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยสมาชิกรัฐสภายุโรปยืนยันว่าสหภาพยุโรปจะนำเรื่องความชอบธรรมและเสถียรภาพของรัฐบาลไทยหลังเลือกตั้ง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน มาพิจารณาก่อนที่จะเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างอียูกับไทย ซึ่งหยุดชะงักมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557

 

"ฮิวแมนไรท์วอทช์ยุโรป" กังวลข่าวปลอมในโซเชียลมีเดีย

 

นอกจากนี้ นายธนาธรและทีมอนาคตใหม่ยังได้พบกับลอทเทอร์ ลิชท์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำยุโรป ในการพบกันครั้งนี้ ลิทช์และนายธนาธรได้แสดงความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของข่าวปลอมและวาทะสร้างความเกลียดชังในโซเชียลมีเดียในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในไทย ซึ่งบ่อยครั้งการรับมือกับข่าวปลอมเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เนื่องจากหากรัฐบาลหรือบริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเลือกรับมือปัญหานี้ด้วยการไล่ลบข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ก็อาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ได้

 

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

ภาพ : พรรคอนาคตใหม่

 

ลิทช์ยังกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในไทยหลังเลือกตั้งว่าสิ่งสำคัญที่รัฐสภายุโรปต้องตระหนักก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยไม่ใช่การกลับคืนสู่ประชาธิปไตย และไม่สามารถยอมรับได้ ประชาธิปไตยจะมีความหมายได้อย่างไรถ้าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมถึงสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองและสิทธิในการชุมนุม ไม่ได้รับการปกป้อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง