แกะรอยใบเบิกทางขยะพิษ จ.สระแก้ว

สิ่งแวดล้อม
10 ก.ค. 62
20:10
2,999
Logo Thai PBS
แกะรอยใบเบิกทางขยะพิษ จ.สระแก้ว
ไทยพีบีเอส ตรวจสอบเส้นทางลักลอบขนขยะอุตสาหกรรมข้ามจังหวัด จากชลบุรี ระยอง ถึงสระแก้ว แอบคัดแยกในเขตป่า เบื้องต้นไม่พบมีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายขยะออกมากำจัด "กรมโรงงาน"ลั่นหากทำผิดพร้อมสั่งปิดกิจการทันที

วันนี้ (10 ก.ค.2562) กรณีพบชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรม น้ำหนักกว่า 300 ตัน ถูกนำมากองไว้รอการคัดแยกในพื้นที่เกือบ 20 ไร่ เขตป่าอนุรักษ์โซนซี ท้ายหมู่บ้านหนองแก ต.ตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ล่าสุดบริเวณจุดลักลอบนำขยะมากองไว้ มีคนงานนำผ้าใบ และเต็นท์มาปิดคลุมบริเวณกองขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ อบต.ตาหลังใน มาคอยดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการชะล้างสารพิษลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำ ตามคำแนะนำของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชั่วคราวก่อน

หลังจากนั้นจึงทำการขนย้ายออกไปยังบริษัทต้นทาง ตามที่นายวิชิต ชาติไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว สั่งการให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย และส่งขยะกลับคืนต้นทางภายใน 15 วัน

นางเมษิณีย์ นนท์ประเสริฐ รองปลัด อบต.ตาหลังในให้ข้อมูลว่า ทางอบต.ทราบเรื่องการนำขยะเข้ามาไว้ในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.ไม่ได้นิ่งเฉย เคยลงพื้นที่ตรวจสอบหลายครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคำขอ รวมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อดำเนินการกำกับและตรวจสอบการขนย้ายขยะกลับไปที่ต้นทาง หลังตำรวจดำเนินการทางคดีแล้วเสร็จ 

ขณะที่ชาวบ้านพอใจกับการแก้ปัญหานี้ของเจ้าหน้าที่ เพราะหากปล่อยไว้นานจะเกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การนำผ้ามาคลุม หรือรอให้มีการตรวจสอบนั้น จะยิ่งทำให้เกิดมลพิษมลภาวะเพิ่มขึ้น 

แกะรอยเอกสารใบอนุญาตขยะอุตสาหกรรม

ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ โดยเริ่มต้นแกะรอยเอกสารการขออนุญาตนำขยะอุตสาหกรรมออกของบริษัทซันเทคเมทัลล์ จำกัด ชลบุรี กับนายกิตติกร สุขสม อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี แต่ไม่พบ

เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานให้ข้อมูลว่านายกิตติกร ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานดังกล่าว ตั้งแต่ช่วงเช้า ทีมข่าวจึงไปตรวจสอบที่โรงงานของบริษัทซันเทคใน ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา คนงาน และพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัท ยืนยันว่า ยังไม่มีหน่วยงานเดินทางมาที่นี่

เมื่อทีมข่าวตรวจสอบเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ กับเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด ได้รับข้อมูลสอดคล้องกัน ว่า วันนี้จะยังไม่มีการตรวจสอบโรงงาน มีเพียงการประชุมของทุกฝ่าย เพื่อสรุปปัญหาที่เกิดขึ้น และจะส่งข้อมูลไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีการประชุมที่ไหน ประชุมกับใครบ้าง ให้รอตรวจสอบเพิ่มเติมจากอธิบดีกรมโรงงาน ส่วนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใบอนุญาตนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกจากโรงงาน ต้องขอจากนิคมเหมราช ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ไม่ใช่อุตสาหกรรม จ.ชลบุรี

สำหรับเอกสารทั้ง 2 ฉบับ เป็นเอกสารสำคัญ ที่ระบุว่า โรงงานประกอบกิจการประเภทไหน และการนำขยะอุตสาหกรรมเข้าออกจากโรงงาน ต้องมีการขออนุญาต พร้อมระบุว่ามีการนำวัสดุประเภทไหนออกจากโรงงาน ปริมาณเท่าไหร่ และเป็นของเสียอันตรายหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการต้องแจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมทุกครั้ง เพื่อการกำกับ ตรวจสอบ และวัสดุต้องตรงกับเอกสารที่แจ้ง

เบื้องต้นบริษัทซันเทคเมทัลล์ จำกัด มีใบอนุญาตประกอบกิจการ เศษเหล็กตัดย่อย มีการแจ้งข้อมูลในระบบการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 18 เม.ย.- 31 มี.ค. 2563 จำนวน 4 รายการเป็นเศษพลาสติก เส้นใยผ้าพรม รวม 2,150 ตัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ขีดเส้น 15 วันย้าย "ขยะพิษ 300 ตัน" พ้นป่าอนุรักษ์

กรมโรงงาน แจงพร้อมปิดกิจการหากทำผิด

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ทาง กรอ.ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ตรวจสอบข้อเท็จจริงของโรงงานที่เป็นข่าวภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เพื่อหาผู้รับผิดชอบในการดำเนินการนำกากของเสียไปดำเนินการกำจัดให้ถูกต้องต่อไป และหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเศษวัสดุดังกล่าวเป็นของบริษัทฯใด จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหานำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 

เบื้องต้นหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทาง กนอ. มีอำนาจที่สามารถสั่งปิดกิจการได้ เพราะโรงงานอยู่ในการดูแลของ กนอ. 

 

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเพื่อตรวจสอบการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) ของบริษัทฯ เอกชนที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นแหล่งที่มาของกองของเสียพบการประกอบกิจการเศษเหล็กตัดย่อย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี มีการขออนุญาตนำเศษพลาสติกออกนอกบริเวณโรงงาน จำนวน 1,000 ตัน ไปทำการคัดแยกที่บริษัทรับคัดแยกอีกแห่งหนึ่งในจ.ระยอง ประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย

และไม่พบว่ามีการได้รับอนุญาตให้นำของเสียไปคัดแยกที่จังหวัดสระแก้วแต่อย่างใด

ขั้นตอนต่อไปเกี่ยวกับการดำเนินการกับกองวัสดุดังกล่าว จะต้องให้เจ้าของเศษวัสดุประสานพนักงานสอบสวนและอัยการจังหวัด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายหรือส่งไปกำจัด ยืนยัน กรมโรงงานฯ ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก มีมาตรการคุมเข้มทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้

หากพบผู้กระทำผิดก็จะลงโทษตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นการสร้างปัญหาทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

 

แจ้งข้อหาเพิ่มประกอบกิจการไม่ได้รับอนุญาต

นายทองชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ผ่านมา ในวันที่ 8 ก.ค. 62 ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีกองของเสีย (เศษพลาสติก ฟองน้ำ สายไฟ และแผงวงจร) ที่ผ่านการบดย่อยจากชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งผู้ดูแลพื้นที่ที่ถูกร้องเรียนแจ้งว่า ได้นำของเสียดังกล่าวมาจาก บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช มาทำการคัดแยกในบริเวณพื้นที่ของกรมป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.วังน้ำเย็น เมื่อวันที่ 7 ก.ค.โดยมีการแจ้งข้อ กล่าวหาดังนี้

  • กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ฐานกระทำด้วยการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
  •  กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ
  • กระทำผิดตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 มาตรา 16 ฐานห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการน้ำบาดาลในเขตน้ำบาดาลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองที่ดินในเขตน้ำบาดาลนั้นหรือไม่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

 

 

ต่อมาเมื่อเมื่อวันที่ 8 ก.ค.สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้วได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12 ตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต “ในส่วนของมาตรา 12 นั้น ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ แต่หากผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ได้รับใบอนุญาตหรือตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่นำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดในมาตรา 8 (5) ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท”

นายทองชัย กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้สั่งห้ามนำซากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.2561 จนถึงปัจจุบันทาง กรอ. ก็ยังไม่มีการอนุญาตให้มีการนำเข้าแต่อย่างใด ดังนั้นคงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นการลักลอบนำเข้าหรือไม่ หรือเป็นขยะอุตสาหกรรมก่อนที่จะมีประกาศสั่งห้ามนำเข้า 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บุกค้นต้นตอ "ขยะพิษ" โผล่สระแก้ว ผิดแค่ขาดรั้วกั้นมิดชิด

นักวิชาการตั้งข้อสังเกตกรณีลักลอบทิ้งเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ จ.สระแก้ว 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง