สุดทรหด! อุ้มลูก - แบกถังออกซิเจนไปหาหมอกว่า 100 กม.

สังคม
10 ก.ค. 62
18:46
3,507
Logo Thai PBS
สุดทรหด! อุ้มลูก - แบกถังออกซิเจนไปหาหมอกว่า 100 กม.
น้ำใจหลั่งไหลช่วยครอบครัวไร้สัญชาติ หลังโซเชียลเผยภาพพ่อแม่พาลูกน้อยใส่สาย - แบกถังออกซิเจน หาหมอจากแม่สายไปตัวเมืองเชียงรายทุกๆ 2 วัน วอนรัฐช่วยเพิ่มกระแสไฟฟ้าเพราะไฟตกสามารถใช้ไฟได้เพียง 5 ชม.

วันนี้ (10 ก.ค.2562) หลังจากสื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพพ่อ แม่อุ้มลูกน้อยขี่จักรยานยนต์ติดไฟแดง โดยเด็กมีสายออกซิเจนใส่อยู่ที่จมูกและมีถังออกซิเจนขนาดใหญ่ผูกอยู่ท้ายรถจักรยานยนต์ 

ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.ทีมข่าวไทยพีบีเอส พร้อมด้วยสมาคมปิยะมิตรแม่สายร่วมใจบรรเทาสาธารณภัยและการกุศลเดินทางไปหาครอบครัวของนายยี่มล นามแสง บ้านอยู่ ม.11 ต.โป่งผา อ. แม่สาย จ.เชียงราย 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพที่อยู่อาศัยของครอบครัวนี้โดยทั้งหมดอาศัยอยู่กัน 5 คน ใกล้กับเทือกเขานางนอนเป็นบ้านชั้นเดียว ไม่มีฟูก ไม่มีผ้าห่ม ไม่มีผ้าปูเตียง มีเพียงแผ่นยางใช้รองนอนเท่านั้น

 

 

นายสังวุฒิ คำมงคล ประธานสมาคมปิยะมิตรแม่สาย ระบุว่า หลังจากมีผู้โพสต์เฟซบุ๊กจึงได้แชร์ออกไปเพื่อตามหาครอบครัวนี้เนื่องจากต้องการสอบถามข้อมูลและช่วยเหลือ และหลังจากได้พูดคุยกับครอบครัว ทางสมาคมฯยินดีช่วยรับภาระเรื่องการขนถังออกซิเจนกับการรับตัวครอบครัวขึ้นรถพยาบาลของสมาคมฯ จากบ้านพักใน อ.แม่สาย เพื่อพาไปพบแพทย์ในตัวเมือง จ.เชียงราย

 

เมื่อทราบเรื่องได้แชร์โพสต์เพื่อตามหาครอบครัวนี้ ซึ่งสมาคมฯยินดีช่วยด้วยใจอยู่แล้ว และพร้อมจะช่วยดูแลเรื่องการรับ - ส่งหากเด็กต้องการเดินทางไปโรงพยาบาลเพราะเรามีรถพยาบาลที่มีความพร้อม พวกเขาจะได้ไม่ต้องขี่รถจักรยานยนต์ระยะทางไกลเพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และระหว่างนั้นก็จะช่วยขนถังออกซิเจนมาเปลี่ยนให้

 

นางมล นามแสง อายุ 29 ปี มารดา "น้องหนุ่ม" เด็กน้อยวัย 2 ขวบ 2 เดือน ระบุว่า ลูกป่วยเป็นโรคหอบมาตั้งแต่เกิด ช่วงอายุราว 6 เดือน เริ่มมีอาการชักจากนั้นร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ และแพทย์แจ้งว่า ปอดข้างซ้ายแฟบต้องใส่สายออกซิเจนและต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจน ซึ่งทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ได้มอบให้หลายเดือนแล้วใช่ควบคู่กันไปกับการพ่นยาทุก 3 ชม.

 

 

สำหรับภาพที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ (9 ก.ค.) ขณะนั้นอยู่ระหว่างพาลูกไปพบแพทย์ตามที่นัดไว้ซึ่งครบรอบการนัดในแต่ละเดือนเพื่อติดตามอาการ

นางมลยังเล่าให้ฟังว่า น้องหนุ่ม เป็นเด็กอารมณ์ดี แต่มีปัญหาเรื่องระบบหายใจ หากไม่มีสายออกซิเจนช่วยจะทำให้ตัวเขียว ปากซีด มีปัญหาต่อการหายใจ ซึ่งขณะนี้ครอบครัวมีเพียงพ่อน้องหนุ่มที่มีรายได้เข้าบ้านจากการใช้แรงงานวันละ 300 บาท แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็แทบไม่พอเพราะต้องจ่ายค่าถังออกซิเจนที่ต้องขี่รถไปเปลี่ยนถังใหม่ ทุกๆ 2 วัน ตกถังละ 200 บาท 

 

 

นายยี่มล นามแสง บิดาน้องหนุ่ม เล่าว่า ปัจจุบันมีรายได้วันละ 300 บาท แต่ช่วงที่ลูกไม่สบายทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปเนื่องจากต้องไปกู้ยืมจนเป็นหนี้ ขณะนี้มีหนี้สะสมกว่า 100,000 บาท ในฐานะคนเป็นพ่อที่เห็นลูกเป็นแบบนี้ก็สงสารลูก ซึ่งส่วนตัวเป็นคนที่ต้องแบกถังออกซิเจนจากบ้านใน อ.แม่สาย ขึ้นรถจักรยานยนต์ไปเปลี่ยนถังใหม่ ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในตัวอำเภอเมืองเชียงราย ซึ่งต้องนำถังออกซิเจนไปเปลี่ยนทุก ๆ 2 วัน และมีค่าใช้จ่ายถังละ 200 บาท โดยถังใหญ่ 1 ถัง ใช้ได้ 1 คืน แต่ถ้าช่วงไหนติดขัดทางโรงพยาบาลจะนำขี้นรถมาส่งให้บ้าง

 


ผู้สื่อข่าว รายงานเพิ่มเติมว่า จากการพูดคุยกับครอบครัวนี้ ทำให้ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายที่ต้องเปลี่ยนถังออกซิเจน ทุก 2 วัน ถังละ 200 บาท ค่านมกล่องขนาดเล็ก 6 กล่อง ดื่มได้ 5 - 6 วัน ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 300 บาท ต่อ 1 เดือน ส่วนรักษาพยาบาลใช้บัตรอนาถา กองทุนประกันสุขภาพบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ บุคคลไร้สัญชาติ ของ สปสช.ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้บางส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

 

 

และเมื่อเวลาประมาณ 14.30 น.นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย พร้อมเหล่ากาชาด ลงพื้นที่มอบเงินส่วนตัวช่วยเหลือเบื้องต้น 2,000 บาท และจากการที่นายสมศักดิ์ พูดคุยกับครอบครัว ทำให้ทราบว่า เข้าหลักเกณฑ์ขอสถานะสัญชาติไทย เนื่องจากมีใบสูจิบัตร และพ่อแม่น้องหนุ่ม อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 15 ปีแล้ว นายสมศักดิ์จึงแนะนำให้ครอบครัวทำเรื่องขอสัญชาติไปที่อำเภอโดยจะพิจารณาให้เป็นกรณีพิเศษ เพราะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาน้องหนุ่มค่อนข้างสูง

 

 

นอกจากนี้ จะประสานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขา อ.แม่สาย ขอให้เพิ่มกระแสไฟฟ้า และหม้อแปลงเพิ่มเติมทั้งหมู่บ้าน เพื่อให้เครื่องผลิตออกซิเจนทำได้งานนานมากขึ้น พร้อมระบุว่า ถังออกซิเจนที่เห็น ทาง รพสต.แม่สาย ได้จัดไว้ก่อนหน้านี้ ให้กับชุมชนในพื้นที่ ซึ่งมีประมาณ 60 ถัง ใช้กับทั้งกรณีของน้องหนุ่ม และผู้ป่วยติดเตียงใน อ.แม่สาย ซึ่งเป็นโครงการที่ทางอำเภอ สาธารณสุข และ รพสต. ได้ดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว

 

 

สำหรับการขี่รถจักรยานยนต์ เพราะที่บ้านไม่มีรถยนต์และเมื่อก่อนเคยนำถังออกซิเจนขึ้นรถตู้สาธารณะ แต่คนขับไม่รับเพราะเกรงว่าถังออกซิเจนจะเกิดระเบิดได้และไม่ปลอดภัยกับผู้โดยสารคนอื่น ทำให้ต้องใช้วิธีแบกขึ้นจักรยานยนต์ยอมขี่ไปกลับทุก ๆ 2 วัน ระยะทาง 120 กิโลเมตร 

 

 

นายยี่มล กล่าวว่า ตอนนี้ที่ผมต้องการมากที่สุด คือ การจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้ามาที่หมู่บ้าน เพราะบ้านที่อยู่ในหมู่ 11 มีครัวเรือนรวมกันราว 32 ครัวเรือน แต่มีกระแสไฟประมาณ 15 แอมป์เท่านั้น ทั้งหมู่บ้านมีหม้อแปลงไฟฟ้าตัวเดียว ซึ่งเครื่องผลิตออกซิเจนที่ใช้กับลูก ต้องใช้กระแสไฟ แต่ขณะนี้เครื่องใช้ได้ประมาณ 5 ชั่วโมง ตั้งแต่ราวๆ 08.00 - 12.00 น. หลังจากนั้นไปจนตลอดคืนกระแสไฟจะตกต้องเฝ้าระวังลูกเอาเอง หากมีอาการตัวเขียว ปากซีด ต้องใช้สายออกซิเจนกับถังออกซิเจนถังใหญ่แทนโดยถังออกซิเจน 1 ถัง ใช้ได้เฉลี่ย 2 วัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง