12 จังหวัดภาคอีสาน เสี่ยงภัยแล้ง ขาดน้ำอุปโภคบริโภค

ภูมิภาค
15 ก.ค. 62
16:21
13,820
Logo Thai PBS
12 จังหวัดภาคอีสาน เสี่ยงภัยแล้ง ขาดน้ำอุปโภคบริโภค
สทนช.ชงแผนเร่งด่วนแก้สถานการณ์ภัยแล้ง หลังฝนสะสมลดลง เล็งดึงน้ำจากเหมืองหินเก่าผลิตน้ำประปา จ.บุรีรัมย์ ลดวิกฤตขาดน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมเร่งแผนระยะกลางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

วันนี้ (15 ก.ค.62) นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์ฝน สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการ และแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ที่ต้องเตรียมแผนรองรับในการหาแหล่งน้ำสำรองให้กับประชาชน พร้อมบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่ให้ผลกระทบแล้งในช่วงฤดูฝนขยายวงกว้าง เพื่อสรุปรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)   

​นายสำเริง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ฝนน้อยกว่าเกณฑ์ปกติที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดสถานการณ์แห้งแล้งรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยได้กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด

12 จังหวัด ภาคอีสาน เสี่ยงภัยแล้ง

 

สถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้พบว่า มีปริมาณน้ำภาพรวมคิดเป็นทั้งสิ้น 4,344 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่เฝ้าระวังน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ 28% เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 27% เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 24% เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ 23% เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี 23% เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร 21% เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา 15%

ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 97 แห่ง ปริมาณฝนสะสม 15 วัน น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร ถือว่ามีปริมาณฝนตกน้อยมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำและสถานการณ์แล้งใน 105 อำเภอ 12 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำพู กาฬสินธุ์ ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และนครราชสีมา

นายสำเริง กล่าวว่า แผนเร่งด่วนที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานเจ้าภาพเร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมทั้งการปฏิบัติการฝนหลวง การเชื่อมต่อและหาแหล่งน้ำที่มีในบริเวณใกล้เคียง การใช้น้ำบาดาล หาแหล่งน้ำสำรอง ที่มีความเสี่ยงขาดอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำประปา การเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ รวมถึงได้แจ้งให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการบริหารจัดการสำรวจความเสียหายด้านเกษตร และการวางแผนการปลูกพืชฤดูแล้งนี้เป็นการล่วงหน้าด้วย

 

ขณะเดียวกัน สทนช.ยังได้เร่งรัดแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2562 ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล 1,045 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 45,665 ไร่ เช่น โครงการประตูระบายน้ำหาดแสงจันทร์ จ.นครราชสีมา โครงการฝายบ้านก้านเหลือง จ.บุรีรัมย์ โครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาศรีสะเกษ เป็นต้น

รวมถึงแผนการขุดลอกอ่างและแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝน ตามที่ สทนช.ได้เสนอ ครม.อนุมัติงบกลาง 1,200 กว่าล้านบาท 144 โครงการนั้นเป็นโครงการในลุ่มน้ำมูลพื้นที่ จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ รวม 23 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 17,810 ไร่ ปริมาณน้ำ 6 ล้าน ลบ.ม.โดยมีโครงการสำคัญ เช่น ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยซันโพรง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมอาคารประกอบ จ.นครราชสีมา การเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ และขุดลอกหนองสะหนุน จ.ศรีสะเกษ

นอกจากนี้ ยังมีแผนการสร้างอ่างฯ ประตูระบายน้ำ ขุดลอกแหล่งเก็บน้ำ ในปี 2563-2565 ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 2,105 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 56,804 ไร่ ปริมาณน้ำ 66 ล้าน ลบ.ม. เช่น โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าม่วง จ.บุรีรัมย์ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำกุดตลาดยาว (พื้นที่แก้มลิง) จ.บุรีรัมย์ ขุดลอกหนองน้ำไดตาเจก จ.สุรินทร์ เป็นต้น

งัด 4 มาตรการ ลดขาดแคลนน้ำ

 

นายสำเริง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคที่เกิดขึ้นใน จ.บุรีรัมย์ เร่งด่วนในระยะสั้นมี 4 มาตรการ ได้แก่

1.การประปาส่วนภูมิภาคได้จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ผลิต ซึ่งปัจจุบันได้ใช้มาตรการลดแรงดันน้ำในช่วงกลางคืนเพื่อยืดเวลาการใช้น้ำให้ได้ประมาณ 2 เดือน

2. ชลประทานบุรีรัมย์จะทำการเปิดทางน้ำภายในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด เพื่อนำน้ำที่มีปริมาณประมาณ 400,000 ลบ.ม. ให้ไหลเข้าบริเวณโรงสูบของการประปาโดยตรง

3. การนำน้ำจากเหมืองหินเก่าซึ่งเป็นที่ของเอกชนมาใช้เพิ่มเติมในระบบของประปา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทานจะบูรณาการร่วมกันและจัดหาเครื่องสูบน้ำเข้ามาดำเนินการเพื่อเป็นแผนสำรองให้มีน้ำประปาได้ถึง 50 วัน

4.มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำแผนเร่งด่วนในการเจาะบ่อน้ำบาดาล บริเวณรอบอ่างทั้ง 2 แห่งด้วย

พื้นที่ภาคอีสานตอนล่างปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ พายุมูนที่ผ่านมาส่วนใหญ่ฝนไปตกบริเวณชายขอบภาคเท่านั้น ซึ่งในระยะ 1-2 วันนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าแนวโน้มฝนดีขึ้นแต่ไม่มากนัก ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องติดตามการคาดการณ์สภาพฝนจากกรมอุตุฯอย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ และประเมินผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร

ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนงานโครงการระยะกลาง และระยะยาว เสนอมายัง สทนช. เพื่อเสนอ กนช.ให้ความเห็นชอบอนุมัติแผนงาน โครงการงบปประมาณต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง