ไขข้อสงสัยสิทธิผู้ต้องหายื่นขอ "ปล่อยตัวชั่วคราว"

อาชญากรรม
16 ก.ค. 62
08:59
4,025
Logo Thai PBS
ไขข้อสงสัยสิทธิผู้ต้องหายื่นขอ "ปล่อยตัวชั่วคราว"
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม อธิบายหลักการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาในคดีอาญา

จากกรณี น.ส.สุปราณี พลดอน อายุ 22 ปี ยื่นขอประกันตัว หลังกลายเป็นผู้ต้องหากรณีรับพัสดุทางไปรษณีย์เป็นยาไอซ์ หนัก 10.3 กรัม ที่มีจ่าหน้าซองส่งมาให้ แต่ไม่ได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

วันนี้ (16 ก.ค.2562) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม ระบุเกี่ยวกับการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า ด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยกับกองทุนยุติธรรมที่ควรทราบ โดยผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีอาญามีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว

หากสามารถให้หลักประกันจนเป็นที่พอใจได้ว่าจะไม่หลบหนีการพิจารณาคดี โดยมีการกำหนดหลักประกันต้องพิจารณาให้เหมาะสมเป็นรายกรณีไป การเรียกหลักประกันสูงเกินควรแก่กรณีจะกระทำมิได้ และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยดังกล่าว การใช้ ดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งเกี่ยวกับการประกันต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมที่เหมาะสม

4 เงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว

หลักเกณฑ์การพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจําเลยของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลใดถือปฏิบัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าเป็นการปล่อยตัวในชั้นสอบสวนในคดีความผิดที่ฟ้องมีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี เป็นเรื่องที่ต้องถือปฏิบัติเฉพาะศาลชั้นต้นต้องถามพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์ว่าจะคัดค้านประการใดหรือไม่ แต่ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

นอกจากนี้ ในการพิจารณาสั่งคำร้องศาลยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ตลอดจนข้อบังคับของประธานศาลฎีกาที่เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาด้วยครับ อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 บัญญัติว่า “เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็ว” 

ประเด็นสำคัญที่ใช้ในการพิจารณา ประกอบด้วย ความหนักเบาแห่งข้อหา พยานหลักฐานที่นำมาสืบแล้วมีเพียงใด พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่ และในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้

โดยศาลกำหนดเงื่อนไขหลักๆ รวม 4 ประการ คือ เงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว ให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี ให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว

3 รูปแบบปล่อยตัวชั่วคราว

การปล่อยชั่วคราวรวมๆ จะมี 3 รูปแบบ คือ การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน มีประกัน และมีประกันและหลักประกัน โดยปัจจุบันในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน

ปัจจุบันได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ให้ศาลสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดกับผู้ต้องหาหรือจำเลยใด รวมถึงมีกองทุนยุติธรรมที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือเงินปล่อยตัวชั่วคราว ค่าจ้างทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และเงินวางศาลสำหรับคนยากจนคนด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ด้วยตนเอง จึงทำให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจสามารถใช้ดุลพินิจในการอนุญาตในการปล่อยตัวได้ง่ายขึ้นครับ

ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ คือ ถ้าคำสั่งของศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ และถ้าคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา โดยให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความ หรือสำเนาสำนวนความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็ว และถ้าคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่อย่างไรกฎหมายไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง