“ลุงไพบูลย์” นักศึกษาปี 1 น้องใหม่ออกแบบกราฟิกฯ วัย 72 ปี

สังคม
19 ก.ค. 62
12:50
2,774
Logo Thai PBS
“ลุงไพบูลย์” นักศึกษาปี 1 น้องใหม่ออกแบบกราฟิกฯ วัย 72 ปี
“ลุงไพบูลย์” นักศึกษากราฟิก และอินโฟฟ์ อดีตนักบินเครื่องบินขับไล่และร่วมรบในสงครามอ่าวฯ กับการเริ่มต้นเส้นทางใหม่สายอาร์ตในวัย 72 ปี แม้การเรียนปริญญาตรีแบบฟูลไทม์จะดูเป็นงานหินของผู้สูงอายุ แต่ลุงไพบูลย์ ยืนยันว่า “แค่ 4 ปี สบายมาก"

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ “ลุงไพบูลย์” หรือ นายไพบูลย์ สุดลาภา ในวันเข้ารายงานตัวเป็นนักศึกษาในสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ (Graphic and Information Design) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

หลังมีโอกาสได้อ่านเรื่องราวความประหลาดใจจากเฟซบุ๊กของ ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ ที่ระบุว่า ในรอบสุดท้ายของการรับสมัครนักศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตร Graphic and Information Design ระดับปริญญาตรี เมื่อขานชื่อเรียกผู้รอสัมภาษณ์เข้าห้องสอบแต่ปรากฏชายสูงอายุคนหนึ่งลุกเดินมา และบอกว่า “ผมนายไพบูลย์ครับ”

ตกใจครับ แรกเห็นนึกว่าเป็นผู้ปกครองพาลูก พาหลานมาสัมภาษณ์เข้าเรียน แต่กลายเป็นว่าคุณลุงมาเป็นผู้รับสัมภาษณ์เสียเอง
ภาพ : วิสิทธิ์ โพ

ภาพ : วิสิทธิ์ โพ

ภาพ : วิสิทธิ์ โพ


ความชื่นชอบด้านศิลปะและการออกแบบตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ลุงไพบูลย์มีแรงดึงดูดให้ตัดสินใจเข้ามาเรียนอีกครั้ง ลุงไพบูลย์เล่าว่า ปกติใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำตั้งแต่อยู่สหรัฐอเมริกา จึงเข้าใจว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องรู้วิธีใช้คอมพิวเตอร์ให้ถูกต้อง และชื่นชอบการดีไซน์ด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้เลยเคยเรียนด้านสถาปัตยกรรมมาก่อน แต่ลาออกเพื่อเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก่อนจะไปอยู่สหรัฐอเมริกา เดินเตะฝุ่นหางานอยู่นาน 2 ปี ก็ยังหาไม่ได้ เพราะฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง

ลุงเขียนได้ อ่านได้ พูดลุงก็พูดได้ เป็นคนพูดคนแรกได้ แต่ถ้าคนอื่นพูดก่อนก็คือ บาย


สุดท้ายลุงไพบูลย์ตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตด้วยการสมัครเรียนทหารอากาศที่โรงเรียนการบิน และได้เข้าร่วมรบในสงครามอ่าวฯ โดยมีหน้าที่หลัก คือ บังคับเครื่องบินขับไล่ และมีโอกาสร่วมรบในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ฝีมือดีถึงขนาดถูกทาบทามให้เข้าร่วมหน่วยงานลับ แต่ลุงไพบูลย์เลือกมาขับเครื่องบินพาณิชย์นำเที่ยว ที่เป็นเหมือนจังหวะชีวิตแห่งโอกาสที่ทำให้ลุงไพบูลย์รู้จักกับการเรียนในสาขา กราฟิกและอินโฟฟ์ หลังหมดเวลาบิน

เคยมีผู้โดยสารไปเที่ยวที่อเมริกา พอรู้ว่าเป็นคนไทยเลยไปคุยกัน เขาเล่าว่าเรียนกราฟิกและอินโฟ ลุงเลยสนใจ พออายุ 45 ปี เป็นนักบินที่ 1 มันแก่เกินไปแล้ว เลยกลับมาไทยเมื่อ 5 ปีก่อน ลุงมีนิสัยไม่อยู่เฉย เลยตัดสินใจมาสมัครเรียนที่นี่

ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม ยังติดตัวลุงไพบูลย์มานานหลายสิบปี ช่วงไหนที่ว่างๆ หากมีคนมาจ้างออกแบบ ลุงไพบูลย์บอกว่า ใช้ออโตแคดได้สบายมาก แต่ลุงไพบูลย์ติดปัญหาที่สายตาเล็กน้อย โดยเฉพาะตัวหนังสือเล็กๆ ทำให้เวลาทำงานอาจต้องใส่แว่นช่วย แต่สุขภาพด้านอื่นๆ นั้น ยังแข็งแรงมาก การันตีจากการนั่งรถเมล์มารายงานตัว และคาดว่าจะนั่งรถเมล์มาเรียนในช่วงเปิดเทอม แม้จะคนแน่น แต่ก็สู้ไหว


วันแรกที่ได้เจอเพื่อนๆ ในวันปฐมนิเทศ ทุกคนดูแล เอาใจใส่ดีมาก จะลุกไปเข้าห้องน้ำ เขาก็จะกรูกันเข้ามาช่วย คอยสอบถามตลอดเวลา และช่วยเหลือเป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้ลุงไพบูลย์เตรียมสมัครแอปพลิเคชันไลน์ ก่อนจะเข้าไลน์กลุ่มร่วมกับเพื่อนๆ ในสาขา เพื่อใช้ในการพูดคุยระหว่างการเรียนตลอด 4 ปี

ลุงไม่อยากให้เขากดดัน เลยให้ทุกคนเรียกว่า พี่ตุ๋ย ชื่อเล่นของลุง แต่ก็ยังไม่มีใครชิน ส่วนใหญ่ก็ติดเรียกลุงกันทั้งนั้น 

การเข้าเรียนของผู้สูงอายุอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ครอบครัวของลุงไพบูลย์นั้น คิดต่างออกไป ลุงไพบูลย์เล่าเคล้าเสียงหัวเราะว่า ลูกหลานยินดี เพราะไม่มีใครนั่งบ่น เขายินดีที่ลุงยังอยากจะมีชีวิตอยู่ และอยากทำอะไรให้ชีวิตมีคุณค่าขึ้น เพราะลุงคิดเสมอว่า "You should do somethings not walking around." หากสมองยังทำงานก็ควรทำอะไรที่เป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่เดินไปมา


แม้การเรียนปริญญาตรีแบบฟูลไทม์จะดูเหมือนเป็นงานหินสำหรับผู้สูงอายุ แต่ลุงไพบูลย์ ยืนยันว่า “เรียนแค่ 4 ปี สบายมาก” ไปอยู่อเมริกามาตั้ง 45 ปี ยังอยู่ได้ ถ้าเรามีใจจดจ่อมันก็ไม่ยาก ต้องมีสมาธิถึงจะเรียนได้ เมื่อถามว่าตั้งเป้าหมายหลังเรียนจบไว้อย่างไร ลุงไพบูลย์ยิ้มก่อนจะตอบว่า

คิดว่านี่จะเป็นอาชีพสุดท้ายของชีวิต ที่เราจะแก่ตายไปกับมัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนุนการศึกษา "ผู้สูงอายุ" ในวันที่เด็กไทยเกิดน้อยลง



ข่าวที่เกี่ยวข้อง