หนุนการศึกษา "ผู้สูงอายุ" ในวันที่เด็กไทยเกิดน้อยลง

สังคม
19 ก.ค. 62
14:05
652
Logo Thai PBS
หนุนการศึกษา "ผู้สูงอายุ" ในวันที่เด็กไทยเกิดน้อยลง
ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ ชี้กรณีลุงไพบูลย์ หรือ นายไพบูลย์ สุดลาภา นักศึกษา วัย 72 ปี อาจกลายเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัย หลังเด็กเกิดน้อยลง ทำให้นักศึกษาแต่ละสาขาลดจากหลักร้อยเหลือหลักสิบคน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ (Graphic and Information Design) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หลังเผยแพร่เรื่องราวของ “ลุงไพบูลย์” หรือ นายไพบูลย์ สุดลาภา เข้ารายงานตัวเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ในสาขาวิชาออกแบบกราฟิกและอินโฟร์ ที่มีอายุมากที่สุดในประเทศไทยผ่านเฟซบุ๊กทำให้มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้เข้าไปกดแสดงความรู้สึกกว่า 16,000 ครั้ง และมีการแชร์ต่อกว่า 5,000 ครั้ง


ดร.วิสิทธิ์ เล่าว่า ลุงไพบูลย์มาเข้าสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเป็นนักศึกษาในรอบสุดท้าย โดยในวั้นนั้นมีผู้สมัครนั่งอยู่หน้าห้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง เมื่อเรียกชื่อนายไพบูลย์ ลุงก็ลุกขึ้นแล้วเดินเข้ามาหา ซึ่งส่วนตัวคิดว่าลุงจะมาบอกว่าลูกไม่มา หลานไม่มาหรือเปล่า แต่ลุงเดินมาบอกว่า "ผมนายไพบูลย์ครับ"

เมื่อเข้ามาสัมภาษณ์แล้ว ส่วนใหญ่ได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องความสนใจและเรื่องพื้นฐาน ทั้งการใช้เครื่องมืออย่างซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ทั่วไป ลุงไพบูลย์บอกว่า "ใช้ได้โอเค เพราะใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวเป็นประจำอยู่แล้ว" ส่วนโปรแกรมกราฟิกแม้ลุงไพบูลย์ไม่เคยได้สัมผัสจริงๆ แต่ถามว่าต้องทำกราฟิกเป็นก่อนมาเรียนไหม ก็ไม่ต้อง เพราะตอนเรียนต้องมีการปรับพื้นฐานอยู่แล้ว

ลุงไพบูลย์ถือเป็นเคสใหม่มาก ที่คณะอาจารย์ต้องหารือเพื่อหาแนวทางตั้งรับใหม่ทั้งหมด ทั้งหลักเกณฑ์การประเมินและวิธีการเรียนการสอน ซึ่งลุงไพบูลย์มาก็อาจจะจุดประกายให้มหาวิทยาลัยคิดอะไรเกี่ยวกับคนหลังเกษียณ


ดร.วิสิทธิ์ ย้ำว่า มหาวิทยาลัยจะได้ประสบการณ์ในการจัดการเกี่ยวกับการศึกษาของผู้สูงอายุเนื่องจากหากย้อนไปก่อนหน้านี้ช่วงไม่มีปัญหาจำนวนเด็กเกิด สัก 4-5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เรียนประมาณ 150 คน ขณะที่นิเทศศาสตร์มีผู้เรียน 700 – 1,000 คน แต่วันนี้นิเทศศาสตร์มีผู้เรียนประมาณ 100 คน ส่วนสาขากราฟิกและอินโฟฟ์มีผู้เรียน 30 คน มาไม่เต็ม ซึ่งถือว่าน้อยมาก จึงคิดว่ามหาวิทยาลัยอาจจะมีการปรับหลักสูตรให้สั้นลง เพราะ 4 ปี นั้นนานเกินไป ซึ่งอาจต้องปรับให้ช่วงเวลาสั้นลงให้เหมาะสมกับวัยและเวลาของผู้สูงอายุ ลุงไพบูลย์จะเป็นกรณีศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยและผู้สอนโดยตรง เพื่อให้สามารถวางแผนการศึกษาผู้สูงอายุในอนาคตได้ 

ต่อยอดระบบการศึกษาสู่สังคมผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ลุงไพบูลย์ยังได้สร้างปราฏการณ์ความสนใจในแวดวงผู้สูงอายุที่จะก้าวเข้าสู่การศึกษาในระบบได้ โดยหลังจากได้โพสต์เรื่องราวของลุงไพบูลย์ผ่านทางเฟซบุ๊กแล้ว ดร.วิสิทธิ์  ระบุว่า มีผู้สูงอายุสอบถามเรื่องเกณฑ์การรับสมัครเข้ามามากขึ้น เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้เข้าเรียน


ในส่วนของหลักเกณฑ์รับนักศึกษา เป็นผู้จบการศึกษาระดับ ม.6 หรือเทียบเท่า ไม่ต้องโทษทางวินัยหรือคดีอายา ถ้าจะเรียนฟูลไทม์ต้องไม่เป็นนักบวช ถ้าอยู่ในหน่วยงานต้องสามารถลาหน่วยงานต้นสังกัดได้ และมีหลักเกณฑ์แต่ละคณะแตกต่างกันออกไปอีกเล็กน้อย เช่น ต้องมีพื้นฐานด้านศิลปะ มีทักษะพื้นฐาน ซึ่งต้องดูจากเกรดเฉลี่ย พอร์ตฟอริโอ หรือให้ทดสอบเบื้องต้น ส่วนหลักฐานที่ใช้ในการสมัครก็เป็นหลักฐานทั่วไปอย่างวุฒิการศึกษา บัตรประชาชน ใบทะเบียนบ้านต่างๆ ส่วนเกณฑ์การรับไม่ได้ใช้ข้อสอบแบบวัยหนุ่มสาว ส่วนใหญ่เน้นความสนใจ และความสามารถในการเรียนตลอดหลักสูตร

อย่างลุงไพบูลย์ เกณฑ์ทุกอย่างเป็นข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ เพราะคุณลุงมีเป้าหมายที่จะเพิ่มความรู้และให้มีกิจกรรมทำ และคาดว่าลุงไพบูลย์ก็อาจไม่ได้ต้องการไปใช้วุฒิสมัครงานในบริษัท ซึ่งหลังจากลุงเข้ามาก็ทำให้อาจารย์ในสาขาตื่นเต้นมาก เพราะความตั้งใจของลุง กระตุ้นให้อาจารย์ตื่นตัวที่จะจัดการเรียนการสอน

ไม่มีใครแก่เกินเรียน เพราะไม่กำหนดเกณฑ์อายุ

ทั้งนี้ ดร.วิสิทธิ์ ฝากถึงผู้สูงอายุที่ยังมีไฟในการเรียนว่า เรื่องการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่อยู่ที่ความสะดวก หากไม่เข้าเรียนในระบบ ก็อาจมีคอร์สอบรมอื่นๆ ให้เลือกเรียนรู้ แต่การเรียนในระบบมีข้อดี คือ มีคนจัดตารางเวลาได้ หากผู้สูงอายุสนใจเข้าเรียนในระบบ ทุกวันนี้ทุกๆ มหาวิทยาลัยก็เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเข้าเรียนได้ ถ้าสังเกตดูระเบียบการณ์สมัครทุกมหาวิทยาลัยจะไม่มีเกณฑ์ว่า อายุไม่เกินเท่านั้น เท่านี้ พอลุงมาแบบนี้ ก็อยู่ในเงื่อนไขที่เข้าเรียนได้ ค่าเทอมมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท


สำหรับการเรียนกราฟิกและอินโฟฟ์นั้น จะได้เรียนการทำ Content ออกแบบจัดหน้า ตัดต่อวิดีโอ ทำตัวอักษร (Font) ทำเว็บไซต์ ออกแบบภาพ และมีโอกาสสร้างรายได้ระหว่างเรียน นักศึกษาที่ขึ้นมาชั้น 2 ก็เริ่มมีทักษะทำงานได้แล้ว หากมีงานจากหน่วยงานต่างๆ ติดต่อเข้ามาก็จะพานักศึกษาไปช่วยงาน เพื่อทำงานบริการกราฟิก ซึ่งแต่ละคนก็ได้เงินมาเลี้ยงดูตัวเองได้ หรือหากเรียนการทำฟ้อนต์แล้ว บางคนก็สามารถทำฟ้อนต์ขายได้ด้วยตัวเองผ่านทางออนไลน์

ขณะที่ทุกวันนี้ลูกศิษย์หลายคนก็วาดสติ๊กเกอร์ไลน์ หรือวาดภาพขายได้ ดังนั้น หากผู้สูงอายุมีทักษะเหล่านี้ก็สามารถทำงานที่บ้านเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนได้อีกด้วย โอกาสทางการตลาดดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ แต่จริงๆ อย่ารอให้ถึงสูงอายุ ถ้าใครมีเวลาหรือมีแรงก็สามารถมาเรียนด้านกราฟิกได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ลุงไพบูลย์” นักศึกษาปี 1 น้องใหม่ออกแบบกราฟิกฯ วัย 72 ปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง