"วราวุธ" ประเดิมแก้ปัญหาน้ำแล้งสุพรรณบุรี

สิ่งแวดล้อม
19 ก.ค. 62
13:36
647
Logo Thai PBS
"วราวุธ" ประเดิมแก้ปัญหาน้ำแล้งสุพรรณบุรี
"วราวุธ" ประเดิมลงพื้นที่ติดตามภัยแล้ง จ.สุพรรณบุรี กำชับทุกหน่วยงาน เตรียมแผนช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำน้อย โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ หลังเจาะน้ำบาดาล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ ทำให้เกษตรกรบ้านห้วยม้าลอย อ.ดอนเจดีย์ มีน้ำทำเกษตร

วันนี้ (19 ก.ค.2562) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (ทส.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง บริเวณบ้านห้วยม้าลอย ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี พร้อมพบปะประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรในหลายพื้นที่

นายวราวุธ กำชับให้ทุกหน่วยงานของ ทส.พร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง เร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาปัญหาให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เกิดฝนทิ้งช่วงหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนและเกษตรกรขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จึงเร่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และให้ความช่วยเหลือเป็นรายพื้นที่

เจาะบ่อบาดาล-ตั้งเครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์

นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนบ้านห้วยม้าลอย ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการ เกษตรเป็นประจำ แต่ละปีสามารถเพาะปลูกพืชได้เพียงรอบเดียวเท่านั้น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และกล้วย เพราะต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน และการละทิ้งถิ่นฐานเพื่อหารายได้ทางอื่นมาใช้จ่ายภายในครอบครัว

ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ เข้ามาพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้น ที่ประสบภัยแล้งเจาะบ่อน้ำบาดาล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อสร้างหอถังเก็บน้ำขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร

 

พร้อมท่อกระจายน้ำระยะทาง 2,000 เมตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 130-242 ไร่ ปัจจุบันเกษตรกรบ้านห้วยม้าลอยทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และมีน้ำบาดาลใช้ เพื่อการเลี้ยงสัตว์ ส่วนพืชที่ปลูก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง กล้วย  มะนาว และพืชสมุนไพร อย่างขมิ้นชัน ไพล

ขณะนี้ยังได้บริหารจัดการน้ำผิวดินและน้ำบาดาล ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน 119 ล้านไร่ ในช่วงปี 2558-2561 รวม 15,914 แห่ง แบ่งเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค 8,189 แห่ง ประชาชนได้รับประโยชน์ 1.4 ล้านครัวเรือน เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 290 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี 

การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 7,725 แห่งประชาชนได้รับประโยชน์ 50,028 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 678,690 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 292 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง