สัตวแพทย์ให้ยาพยุงอาการกระทิง "ภูผา" ชัก-หมดแรง

สิ่งแวดล้อม
21 ก.ค. 62
12:14
674
Logo Thai PBS
สัตวแพทย์ให้ยาพยุงอาการกระทิง "ภูผา" ชัก-หมดแรง
ทีมสัตวแพทย์ เผยผลตรวจกระทิงภูผา พบค่าตับและค่าไตสูงกว่าปกติ ส่วนเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ต้องให้ยาพยุงอาการ พร้อมป้อนหญ้า กล้วย อาหารเม็ด เบื้องต้นยังไม่สามารถลุกยืนได้เอง หลังมีอาการชักบ่อยครั้งและหมดแรง

จากกรณีกระทิง "ภูผา" ตัวผู้ มีอาการชักบ่อยครั้งและหมดแรงล้มตัวลงนอน โดยเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ได้เข้าช่วยเหลือและติดตามอาการตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมตรวจวัดกลูโคสในกระแสเลือด พบว่าระดับน้ำตาลต่ำกว่าปกติ

วันนี้ (21 ก.ค.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการตรวจเลือดและค่าเคมีในเลือดทางห้องปฏิบัติการ พบว่าค่าตับ ค่าไต มีค่าสูงกว่าปกติ ส่วนค่าเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ไม่พบพยาธิในเม็ดเลือด สัตวแพทย์ยังคงให้สารน้ำเข้าหลอดดำและใต้ผิวหนัง ให้ยาแบบกินที่กระทิงภูผากินเป็นประจำ คือ ยาระงับชัก วิตามินบำรุงร่างกาย ยาบำรุงตับ ยาฆ่าเชื้อ ยาลดปวดลดอักเสบ

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ป้อนอาหารพวกหญ้า อาหารเม็ดสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง กล้วยไข่สุก และกล้วยน้ำว้าสุก เล็กน้อย กระทิงภูผาสามารถกินอาหารและน้ำได้ปกติ แต่ยังไม่สามารถลุกยืนได้เอง ต้องใช้รอกและสายสะพายช่วยในการพยุงตัวขึ้นลง เนื่องจากยังมีอาการเจ็บปวดบริเวณขาหลังข้างขวา ซึ่งเมื่อภูผามีอาการชักมักจะเอาลำตัวด้านขวาลงพื้นดิน และอาจเกี่ยวเนื่องกับสภาวะความผิดปกติของค่าตับ ค่าไต และเม็ดเลือดแดง

 

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

สำหรับการดูแลรักษาจะต้องรักษาแบบพยุงอาการ ตรวจเช็คค่าเลือดและค่าเคมีในเลือดเป็นประจำ และจะต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันดึงรอกขึ้นลงเป็นประจำเพื่อให้กระทิงภูผาได้นอนและยืนซึ่งจะส่งผลดีต่อสัตว์ โดยอยู่ในการควบคุมดูแลของนายเผด็จ ลายทอง ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.2 (ศรีราชา)​, นายวีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน, สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ประจำ สสป.สบอ.2 (ศรีราชา), น.ส.กมลชนก นามมลตรี นักวิชาการสัตวบาล ประจำ สสป.สบอ.2 (ศรีราชา), น.ส.ชลาลัย เปรมอ่อน ผู้ช่วยสัตวแพทย์ ประจำ สสป.สบอ.2 (ศรีราชา)​ รวมถึงเจ้าหน้าที่ ขสป.เขาอ่างฤๅไน

ทั้งนี้ กระทิงภูผามักจะมีอาการชักเกร็งเป็นประจำและหมดแรงบ่อยครั้ง เนื่องจากมีอาการความผิดปกติทางระบบประสาทแต่กำเนิด โดยกินยาระงับชักต่อเนื่องมาระยะเวลานาน 4 ปี ทีมสัตวแพทย์จึงรักษาตามอาการและคอยตรวจเช็คสุขภาพเป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามอาการและรักษาอย่างอาการเต็มที่

 

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง