“ปลาทูไทย” ลดลง 7 เท่า

สิ่งแวดล้อม
22 ก.ค. 62
10:29
5,858
Logo Thai PBS
 “ปลาทูไทย” ลดลง 7 เท่า
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ผศ.ดร.เมธี แก้วเนิน อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการประมง คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ วิเคราะห์สาเหตุปลาทูไทยลดลง 10 เท่า แต่ยังไม่เสี่ยงสูญพันธุ์ ชี้การทำประมง สภาพแวดล้อม และอุณหภูมิน้ำมีผลต่อปริมาณชัดเจน มาตการปิดอ่าวได้ผล

ปลาทู อาหารคู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน แทบจะเรียกได้ว่าคนไทย ทุกคนต้องเคยชิมเมนูปลาทูกันมาแล้ว แต่ ณ เวลานี้การจะได้รับกินปลาทูไทยอาจจะยากมาขึ้น เนื่องจากสถิติการจับปลาปลาทูของกรมประมงในการจับสัตว์น้ำในพื้นที่อ่าวไทยและมหาสมุทรอินเดียระบุว่า เคยมีการจับปลาทูสูงสุดปริมาณกว่า 147,852 ตันในปี 2554 และลดลงมาเหลือเพียงกว่า 20,461 ตันในปี 61 หรือกว่า 7 เท่า

ปลาทู อาหารคู่ครัวไทย

จากคำอธิบายของ ผศ.ดร.เมธี แก้วเนิน อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปลาทูเป็นอาหารคู่ครอบครัวคนไทยมาอย่างยาวนาน ความต้องการบริโภค จึงค่อนข้างสูง เพราะเชื่อว่าปลาทูเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญ กินปลาทูแล้วจะฉลาด ซึ่งปลาทูเป็นปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง ซึ่งโอเมก้า 3 เป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นที่ทำให้สมองพัฒนาได้ดี เมื่อมีความต้องการสูงจึงทำให้มีการทำประมงในอ่าวไทยค่อนข้างเยอะเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศที่ยังคงนิยมบริโถคสูงต่อเนื่อง

ระยะหลังจะเห็นว่าปลาทูตัวเล็กลงเรื่อย ๆ และหายากไม่ได้มีตลอดปีเหมือนสมัยก่อน ขณะที่เมื่อเจอปลาที่ตัวใหญ่ ก็สังเกตว่าใช่ปลาทูหรือไม่ และราคาค่อนข้างสูง ทำให้มาคิดวิเคราะห์ว่าปลาทูไทย ถูกจับมากขึ้นเพราะความต้องการมีมาก สถิติกรมประมง ย้อนหลังไปสัก 10 ปีจะพบว่าปลาทู เริ่มมีให้เห็นน้อยลง แต่ที่เห็นชัดคือหลังจากในปี 56 -57 เป็นต้นมา

ถูกจับมาก-สิ่งแวดล้อม-อุณหภูมิน้ำทะเล สาเหตุปลาทูลด

ผศ.เมธี กล่าวว่า สาเหตุที่ปลาทูไทยลดลง เนื่องจากพื้นฐานคือมีความต้องการบริโภคปลาทูตลอดทั้งปี แต่จากการศึกษาพบว่ามีสาเหตุหลัก 3 ด้าน ที่ส่งผลให้ปลาทูลดลง


1.การทำประมง ทั้งประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้านที่จับปลาทูขึ้นมาจำหน่าย ใช้เครื่องมือประมง เช่น อวนดำ อวนล้อมจับ อวนลาก และอวนจม ก็ยังหาปลาตามปกติ แต่เนื่องจากความต้องการบริโภคปลาทูยังมีสูงแต่ทรัพยากรลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นผลผลิตมันลดลง หรือมีการทำประมงที่มากเกินไป ทั้งเรือประมงพาณิชย์ และเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งในอดีตยังไม่มีการควบคุมปริมาณเรือที่ดีพอ

2. สภาพแวดล้อมเที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากปลาทูเป็นปลาผิวน้ำ อาหารหลักคือแพลงก์ตอนพืช ในทะเลที่อยู่บริเวณผิวน้ำ ซึ่งเกิดจากธาตุอาหารที่ไหลลงมาจากพื้นดินจากแม่น้ำลงไปในทะเล ทำให้แพลงก์ตอนเกิดขึ้น และการที่ธาตุอาหารจะไหลจากพื้นดินลงไปยังปากแม่น้ำ และไหลลงสู่ทะเลบริเวณชายฝั่ง ก็ต้องอาศัยน้ำฝนในชะล้างหน้าดิลงไป

“ปีไหนมีน้ำน้อย ฝนตกน้อย หรือภัยแล้ง ก็จะมีความเป็นไปได้ว่าจะมีแพลงก์ตอนที่เกิดขึ้นน้อย ทำให้อาหารธรรมชาติของปลาทูมีน้อย เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ปลาทูย้ายไปบริเวณอื่น”
3.อุณหภูมิผิวน้ำที่สูงขึ้น แม้ว่าจะสูงขึ้นเล็กน้อย ก็จะมีผลต่อการเคลื่อนที่ของปลาทู จะลงไปทะเลที่ลึกมากขึ้น ทำให้การจับปลาทูได้น้อยลง


องค์ประกอบเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อปลาทูในภาพรวม ดังนั้นเมื่อย้อนดูหลังจากปี 2557 ที่พบว่าปลาทูหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งปีดังกล่าวมีภัยแล้ง จึงทำให้ปริมาณปลาทูโดยรวมลดลง

 

 

 

 

ปลาทูลด แต่ไม่สูญพันธุ์-ปิดอ่าวช่วยได้

ถามว่าปลาทูจะสูญพันธุ์หรือไม่ ปลาทูเป็นสัตว์น้ำที่เจริญเติบโตทดแทนกันได้ มันไม่ได้หายไปหรือสูญพันธุ์ แต่วงจรการเติบโตมาทดแทนตามธรรมชาติอาจจะเปลี่ยนไป ของเดิมอาจจะโตมาทดแทนได้ในทุกปี แต่บางช่วงอาจจะหายไปใน 2-3 ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่สภาวการณ์ของสัตว์น้ำแต่ละชนิด แต่คงจะไม่หายไปถึงขั้นไม่เจออีกแล้ว 

ผศ.ดร.เมธี ระบุว่า การดำเนินมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำเพื่อไม่ให้มีการจับปลาทูมากเกิน ถือว่าค่อนข้างดี กรมประมง ใช้มาตรการปิดอ่าวในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร ต่อเนื่องมานานกว่า 40 - 50 ปี ช่วงวันที่ 15 ก.พ. –15 พ.ค.หรือราว 4 เดือน ในทุกปีเป็นช่วงที่มีการปิดอ่าว เพื่อให้ลูกปลา พ่อแม่ปลา จะมาผสมพันธุ์และออกไข่

มาตรการปิดอ่าว เป้าหมายหลักคือการป้องกันไม่ให้มีการจับปลาทูมากเกินไป แต่ว่าสัตว์น้ำชนิดอื่นก็ได้ประโยชน์ไปด้วย

จากนั้นเมื่อมีปัญหาต่างๆ มากขึ้นทั้งสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทรัพยากรลดลง ชาวประมงเพิ่มขึ้น กรมประม งจึงใช้มาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก.ที่เป็นพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี และ จ.ชลบุรี เป็นการทดลองใช้ 3 ปี พบว่ามีปลาทูที่ถูกจับมากบางช่วงที่มีการเปิดอ่าวขึ้นมา เพราะเรือประมงทราบว่ามีการเปิดอ่าวก็ไปจับ โดยหลังปี 57 พบว่ามีการจับปลาทูจำนวนมาก และในปีถัดมาปลาทูจึงลดลงไปมากเช่นกัน เพราะวงจรขาดช่วงไป ดังนั้น กรมประมงจึงพยายามใช้มาตรการเพิ่มด้วยการใช้วิธีปิดอ่าวเพิ่มเติมแถว จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี พื้นที่รอยต่อที่ไม่มีการควบคุมก็จะควบคุมมากขึ้น ส่วนพื้นที่ปิดอ่าวตอนในก็แบ่งเป็นโซนละเอียดขึ้น เพราะให้สอดคล้องกับวงจรชีวิตของปลาทู


มาตรการปิดอ่าว เริ่มได้ผล เพราะปีนี้มีการจับปลาทูได้ดี เมื่อเทียบกับปีที่ก่อนที่จับได้ค่อนข้างน้อยมาก แต่ที่ยังขาดคือ ปัจจัยที่จะมีผลต่อการเจริญ เติบโตของพ่อแม่ปลา แหล่งวางไข่ของปลาทู ต้องเก็บข้อมูลเพิ่มว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่น จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งลูกปลาทู

 

 

บังคับใช้มาตรา 57 ยาก

 

 

ผศ.ดร.เมธี แก้วเนิน อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.เมธี แก้วเนิน อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผศ.ดร.เมธี แก้วเนิน อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ผศ.ดร.เมธี การบังคับใช้ พ.ร.บ.ประมงบ มาตรา57 ที่ระบุว่า ห้ามนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นมาบนเรือ ในมุมวิชาการเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการบังคับใช้ เนื่องจากด้วยธรรมชาติของสภาพทะเลไทย ซึ่งเป็นทะเลเขตร้อน (Tropical Zone) ธรรมชาติของสัตว์น้ำหลายชนิดจะอยู่หลากหลายชนิด จะแตกต่างจากโซนน้ำหนาว ซึ่งจะมีสัตว์น้ำเพียง 1 -2 ชนิด แม้ว่าจะใช้เครื่องมือที่ออกแบบเพื่อจับสัตว์น้ำหลักเช่น ปลาทูชนิดเดียวแต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะได้ปลาทูอย่างเดียว มันจะได้สัตว์น้ำอย่างอื่นมาด้วย


ดังนั้น กรณีการจับลูกปลาทู โดยเฉพาะชาวประมงที่ทำอวนล้อมจับปลาทู หากถามว่ามีความตั้งใจจะจับลูกปลาทูหรือไม่ คงไม่ใช่ เพราะเป็นสัตว์น้ำที่พลอยจับได้ขึ้นมา เครื่องมืออื่นเช่นกันเช่นความต้องการจับปลากะตัก แต่ว่าก็จะมีลูกปลาทูติดขึ้นมาด้วย แต่ว่าเมื่อติดขึ้นมาแล้วจะทิ้งทะเลกลับคืนไป มันก็จะเสียประโยชน์ เพราะสัตว์น้ำในบ้านเราสามารถใช้ประโยชนน์ได้หลากหลาย ไม่ใช่การกินเนื้ออย่างเดียว แต่ไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ตัวใหญ่ใช้ประโยชน์ ตัวเล็กก็ใช้ประโยชน์ได้

การจับลูกปลาทูขึ้นมาก็มองได้ 2 มุม คือ มุมของการอนุรักษ์อาจมองว่าเป็นการส่งเสริมการกินลูกปลาซึ่งแน่นอนว่าไม่ควรส่งเสริม แต่ในมุมการใช้ประโยชน์เมื่อถูกจับขึ้นมาและตายแล้วจะทิ้งมันหรือไม่ เพราะลูกปลาทูตากที่พบเห็นก็ได้มาจากปลาทูพลอยได้จากการทำเครื่องมือประมงชนิดอื่น ซึ่งชาวประมงไม่อยากทิ้งไป

นอกจากนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ลูกปลาทูที่ติดมากับเครื่องมือประมงชนิดอื่นในสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งกรณีประมงปลากะตักจะติดลูกปลาทูมาร้อยละ 1-2 แต่คำถามคือ ไม่มีรายงานว่าลูกปลาทูที่ติดขึ้นมาหรือจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของปลาทูทั้งหมด ข้อมูลเหล่านี้ต้องการการวิจัยเนื่องจากยังขาดข้อมูลที่จะช่วยในการประเมินว่า การกินลูกปลาทูสร้างความเสียหายที่รุนแรงแค่ไหน ดังนั้นการบังคับใช้มาตรการใด ๆ ต้องมีมาตรการที่ทั้งชาวประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน หรือภาครัฐที่สามารถปฏิบัติได้จริง

การจะห้ามไม่ให้นำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือ ถ้ามีคนไปฟ้องก็ต้องถูกจับใช่หรือไม่ จริงๆ อาจเป็นสัตว์น้ำที่ไม่ตั้งใจจับขึ้นมาก็ได้แม้ว่าจะมีปริมาณน้อยมาก การบังคับใช้ ก็จะกระทบและติดขัดไปหมด ทางกรมประมงก็ยังต้องหารือก่อนระหว่างเรือประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เพื่อหาข้อยุติ เพราะจะไปโทษเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะปัญหาการใช้ทรัพ ยากรบ้านเรามีมาอย่างยาวนานแล้ว ตอนที่เราแก้ไขปัญหา IUU จึงเริ่มมีการแก้ไขปัญหาจริงจังผลกระทบจึงเป็นวงกว้าง

ชาวประมงตกเป็น "จำเลย"


ผศ.ดร.เมธี กล่าวว่า สถานการณ์ปลาทูไทยที่ลดลง ชาวประมงทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน มีความตระหนักดีว่า เพราะเป็นอาชีพเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ ต้องให้ความรู้และให้เขาปฏิบัติตามข้อกำหนดได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และรู้สึกว่าปฏิบัติตามได้ เพราะทุกคนล้วนรักสัตว์โดยในบางพื้นที่ที่เข้มแข็งได้สร้างซั้งกอ (บ้านปลา) เพื่อให้ปลามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมีหน่วยงานเอกชนสนับสนุนจำนวนมากในหลายพื้นที่

สาเหตุที่สัตว์น้ำลดลงไม่ได้มีเพียงสาเหตุเดียว โดยธรรมชาติก็มีตาย หรือปลาทูเติบโตช้ากว่าปกติเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็ได้ ดังนั้นการที่ทำให้สัตว์น้ำไม่ปรากฏ หรือจับได้น้อยมีหลายปัจจัย การจะไปฟันธงว่าเป็นชาวประมงเพียงอย่างเดียวโดยไม่ดูปัจจัยอื่นมันก็ดูจะโทษเขามากเกินไป

ดังนั้น การที่จะช่วยให้การจับปลาทูอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม และการรายงานผลจับสัตว์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นชนิด ปริมาณในแต่ละวัน พื้นที่ ฤดูในการจับ ข้อมูลพวกนี้จะช่วยในการบริการจัดการที่ดีขึ้นได้ในอนาคต ในการจำลอง คาดการณ์ เพื่อดำเนินการจับปลาได้ดีขึ้น 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

"ตลาดปลาทูออนไลน์" ยังไม่ปัง

 

"เพาะพันธุ์ปลาทู" ความหวังยังห่างไกล

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง