เครือข่ายภาคตะวันออก เดินหน้าคัดค้านผังเมืองอีอีซี

สิ่งแวดล้อม
23 ก.ค. 62
14:02
2,562
Logo Thai PBS
เครือข่ายภาคตะวันออก เดินหน้าคัดค้านผังเมืองอีอีซี
เครือข่ายภาคตะวันออกและประชาชนจากหลายจังหวัดภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี เดินทางติดตามความคืบหน้าการคัดค้านผังเมืองอีอีซี

วันนี้ (23 ก.ค.2562) เครือข่ายภาคตะวันออก พร้อมประชาชนจากหลายจังหวัดภาคตะวันออก เดินทางด้วยรถไฟมายังสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการพิจารณาหนังสือคัดค้านการจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี หรือ ผังเมืองอีอีซี ที่ยื่นคัดค้านเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยรวมตัวกันเดินเท้าราว 1 กิโลเมตรไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ สำนักงานอีอีซี โดยมี เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางรัก เข้าชี้แจงรายละเอียดการชุมนุมกับแกนนำ เพื่อกำหนดเส้นทางการเดินไม่ให้กีดขวางการจราจร

 


เครือข่ายภาคตะวันออก อ่านแถลงการณ์หยุดผังเมืองอีอีซี และยื่นหนังสือขอคัดค้านคำชี้แจงของสำนักงานอีอีซี โดยเห็นว่าการจัดทำผังเมืองรวมอีอีซีไม่เป็นไปตามหลักการผังเมือง พร้อมเรียกร้องให้สำนักงานอีอีซีและคณะกรรมการอีอีซี ยุติการพิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการใหม่ตั้งแต่ต้น โดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

 

 

กังวลกระทบระบบนิเวศ


นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ระบุว่า แม้ร่างผังเมืองอีอีซีฉบับปรับปรุง จะมีข้อดีที่ช่วยลดพื้นที่ชุมชนเขตเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียวเขตชลประทาน แต่การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในหลายจุดยังไม่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ เช่น บริเวณ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

หรือ บริเวณต้นน้ำคลองระบม ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม เป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง แหล่งน้ำสำคัญของภาคตะวันออก และใช้ในการรักษาระบบนิเวศ รวมถึงพื้นที่รอยต่อ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญระดับประเทศ

แต่พื้นที่เหล่านี้ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม ทำให้ถูกตั้งคำถามว่า อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนหรือไม่ เพราะกระบวนการจัดทำเป็นไปอย่างเร่งรัดและขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการทำผังเมือง  

 

ด้าน น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการอีอีซี ระบุว่า ขณะนี้ ร่างผังเมืองอีอีซี มีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 90

การจัดทำผังเมืองครั้งนี้ คำนึงถึงผลกระทบทุกด้าน และต้องการพัฒนาพื้นที่ให้มีศักยภาพสูงสุดเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง กระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็มีการปรับแก้และยกเลิกการประกาศพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมด้วย

 


ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก, กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับโครงการอีอีซี และตามกรอบ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำหนดให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 สิงหาคม นี้ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไป ระยะเวลาที่เหลือไม่ถึง 3 สัปดาห์ เครือข่ายภาคตะวันออก จึงกังวลว่า หลายข้อท้วงติงจะไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่นโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภา ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะเดินหน้าพัฒนาอีอีซีอย่างเต็มที่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ สั่งต้านกระแสยุติอีอีซี

ที่ดินอีอีซีราคาพุ่งไร่ละ 13 ล้าน เกินกำลังซื้อคนในพื้นที่

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง