ลดราคารถไฟฟ้าเหลือ 15 บาท หลายพรรคหาเสียงแต่ยังไม่ถึงฝัน

เศรษฐกิจ
25 ก.ค. 62
06:48
1,191
Logo Thai PBS
ลดราคารถไฟฟ้าเหลือ 15 บาท หลายพรรคหาเสียงแต่ยังไม่ถึงฝัน
แนวคิดลดภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้า 15 บาทต่อเที่ยว กำลังทำให้ผู้โดยสารหลายคนมีความหวังที่จะเปลี่ยนจากใช้รถเมล์ มาโดยสารรถไฟฟ้า แต่นโยบายนี้เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลว่าจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หลังก่อนนี้มีหลายรัฐบาลเคยหาเสียงด้วยนโยบายนี้แต่ไปไม่ถึงฝัน

เสียงสะท้อนของผู้โดยสารรถไฟฟ้าหลายคนตรงกันว่า การลดค่าโดยสารจะช่วยลดค่าครองชีพได้ แต่หากลดจริงรัฐอาจต้องชดเชยรายได้ส่วนที่หายไปให้กับเอกชน หากใช้บริการรถไฟฟ้านั่งจากสถานีสยามถึงสถานีหมอชิต จะเสียค่าโดยสาร 44 บาท ซึ่งหากรัฐบาลปรับลดค่าโดยสารเหลือ 15 บาทต่อเที่ยว หมายความว่ารัฐต้องชดเชย 29 บาทต่อเที่ยว 


หาก 1 วัน มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า 100,000 คน รัฐต้องชดเชยรายได้ให้เอกชนถึง 2,900,000 บาท ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแม้ไม่ใช่ช่วงเวลาเร่งด่วน รถไฟฟ้าในบางสถานีมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และหากถูกลงก็ไม่น่าแปลกใจถ้าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นทวีคูณ


นาถตยา นพรัตน์  ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ยอมรับว่า หากขบวนรถเท่าเดิม แต่ราคาถูกลงจะทำให้คนมาใช้บริการมากขึ้น ก็จะเลือกเดินทางโดยสารทางอื่นแทน เพราะหากราคาถูกแต่ต้องรอนาน แออัด ก็มีผลต่อคุณภาพชีวิตเช่นกัน ดังนั้น หากรัฐจะลดราคาจริง ควรเพิ่มขบวนรถเพิ่มเพื่อรองรับประชาชนได้มากขึ้นด้วย


อาณัติ อาภาภิรม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การดำเนินนโยบายอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า บีทีเอส ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะมีมาตั้งแต่รัฐบาลยุคก่อน ที่อุดหนุนค่าโดยสารในอัตราปกติ พร้อมระบุว่า แนวทางการลดค่าโดยสาร มีหลายวิธี จึงจำเป็นต้องหารือรายละเอียด และรับฟังเงื่อนไขก่อน

พรรคการเมืองหาเสียง "ลดค่ารถไฟฟ้า" ขอคะแนน

นโยบายลดค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 15-20 บาท ถูกนำมาใช้หาเสียง ตั้งแต่สมัยนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 พร้อมประกาศว่าจะซื้อสัมปทานจากเอกชนที่ลงทุนไปแล้ว 52,000 ล้านบาท เพื่อควบคุมค่าโดยสาร ไม่ต่างจากในยุคพรรคพลังประชาชน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง เมื่อปี 2554 ประกาศจะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เที่ยวละ 20 บาทต่อสาย แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถทำได้


สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ระบุว่า นโยบายลดค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 15 บาท เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเช่นกัน แต่เป็นเป็นไปได้ยากเพราะ รัฐ ต้องแบกภาระงบประมาณอุดหนุน มากกว่า ปีละ 4 พันล้านบาท ซ้ำไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษีทั่วประเทศ


ทั้งนี้ บริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์ มองแนวทางลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส 2 แนวทาง ได้แก่ การนำภาษีท้องถิ่นที่ กทม. เป็นผู้จัดเก็บ หรือ ภาษีต่อป้ายทะเบียนวงกลมรถมาชดเชยส่วนต่าง หรือตั้งกองทุนมาจ่ายเงินอุดหนุน ซึ่งอาจนำรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์ตามแนวรถไฟฟ้ามาจ่ายให้กับบีทีเอส เป็นต้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง