จับตาทิศทาง "อีอีซี" ในนโยบายรัฐบาล

สิ่งแวดล้อม
25 ก.ค. 62
13:00
775
Logo Thai PBS
จับตาทิศทาง "อีอีซี" ในนโยบายรัฐบาล
การบรรจุโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไว้ในนโยบายรัฐบาล อาจไม่เหนือความคาดหมาย เพราะเป็นนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน แต่การเดินหน้านโยบายอีอีซีครั้งนี้จะแก้ไขโจทย์เดิมตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชนได้หรือไม่?

หากดูจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ระบุไว้อย่างชัดเจน ว่าการพัฒนาประเทศจะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืนจากชุมชนฐานราก แต่กลไกที่ผ่านมาของ "โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก" หรือ อีอีซี มีหลายประเด็นที่ภาคประชาชนมองว่าขัดกับแนวนโยบายของรัฐบาล (ดู คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา)

 


ก่อนการแถลงนโยบายรัฐบาลเพียง 2 วัน มีความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในนาม "เครือข่ายภาคตะวันออก" รวมถึงการตั้งคำถามโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้งในที่ประชุมสภาฯ ครั้งก่อนหน้า นี่จึงอาจเป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพราะคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนั้นชัดเจนว่า "อีอีซี" ถูกบรรจุไว้ในนโยบายหลักของรัฐบาลแต่กลับขัดแย้งกับนโยบายอื่น
 

เช่น กรณีการพัฒนาอีอีซีอย่างต่อเนื่อง และขยายผลไปยังพื้นที่ภาคใต้ รัฐบาลเน้นย้ำทำเพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียน ตามนโยบายหลักข้อที่ 6 "การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค" แต่คำถามที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด คือ การเร่งรัดโครงการฯ โดยใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐบาลชุดก่อน อาจขัดกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติด้วยหรือไม่ เพราะหากยังใช้กลไกเดิมเดินหน้า โครงการนี้อาจขัดแย้งกับนโยบายหลักข้อที่ 4 "การสร้างบทบาทของเวทีไทยในเวทีโลก" ที่ต้องการผลักดันประเทศไทย ให้พัฒนาภายใต้กรอบความยั่งยืน
 

 

 

 

นโยบายหลักข้อที่ 7 "การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก" ยังระบุถึงการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจนว่าทรัพยากรภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร และเคยมีข้อเสนอให้การพัฒนาอีอีซีต่อยอดจากต้นทุนเดิม ทั้งทางทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม แต่กลับไม่ถูกตอบสนองในระดับนโยบาย

นายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ตั้งข้อสังเกตว่าการลงทุนที่เน้นเฉพาะกลุ่มทุนอุตสาหกรรมจะสอดรับกับนโยบายที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างไร
 

มะม่วงของฉะเชิงเทรา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การต่อยอดพืชสมุนไพร มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นพันล้านได้เช่นกัน อย่าดูแต่ตัวเลขหมื่นล้านหรือแสนล้าน เพราะ SEA (การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์) พูดถึงเศรษฐกิจในแง่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น ต้องดูการกระจายรายได้ด้วยว่าหลักแสนล้านกระจายรายได้ไปที่ใครบ้าง แต่หากทำทางเลือกอื่น ตัวเลขโดยรวมอาจเป็นหลักพันล้านหรือหมื่นล้าน จีดีพีอาจดูน้อยกว่า แต่ตัวเลขนี้กระจายไปนับพันชุมชน มีการสร้างงานมากเท่าไหร่


ภาคประชาชนต่อนโยบายอีอีซี


สำหรับความเห็นของเครือข่ายภาคประชาชนต่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโครงการอีอีซีและโครงการต่อเนื่อง น.ส.พรพนา ก๊วยเจริญ ผอ.กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) ระบุว่า ไม่แปลกใจที่เรื่องอีอีซีจะถูกบรรจุไว้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล เพราะเป็นนโยบายที่มีมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน ทั้งเรื่องอีอีซีและการขยายไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในภาคอื่นๆ 
 

พรพนา ก๊วยเจริญ ผอ.กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน

พรพนา ก๊วยเจริญ ผอ.กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน

พรพนา ก๊วยเจริญ ผอ.กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน


รัฐบาลมองว่านโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นของวิเศษ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้วิเศษแบบนั้น ถ้ารัฐบาลจะกลับไปทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนก่อนจะมีอีอีซี จะรู้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่รัฐบาลไม่ยอมรับว่าล้มเหลว บางพื้นที่มีการเปิดประมูลหลายครั้งก็ไม่มีนักลงทุนมาลงทุน ไม่มีการสรุปบทเรียน ไม่มีการสรุปว่านโยบายเขตเศรษฐกิจชายแดน สำเร็จหรือล้มเหลว


นอกจากนี้ ผอ.กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ยังระบุอีกว่า รัฐบาลควรกลับมาทบทวนว่าอะไรยังไม่ได้ทำและควรทำ เช่น การประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ หรือ SEA ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญก่อนจะมีนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภาค


ขณะที่นโยบายการขยายผลอีอีซีไปสู่พื้นที่ภาคใต้ นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย มองว่าเป็นแนวทางที่เขียนไว้ดีแต่ยังไม่มีรายละเอียด โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้า มองว่าควรเริ่มต้นจากการพัฒนาตามเส้นทางขนส่งเดิมที่มีอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมายังไม่ถูกใช้อย่างคุ้มค่า
 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

 

ก่อนการพัฒนาอะไร ต้องมองผลกระทบทางยุทธศาสตร์ทั้งพื้นที่ ว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง และที่สำคัญคือให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม


นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขง ที่มองว่า ยังไม่เห็นประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิ่งที่มองเห็นมีแต่ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิของคนท้องถิ่น ซึ่งสวนทางกับคำพูดที่ว่าคนชายแดนจะดีขึ้น แต่คนชายแดนกลับเป็นแค่ทางผ่าน ทำให้ผู้อื่นมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ
 

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขง

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขง

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขง


ถ้าเดินตามนโยบายนี้มีคำถามว่าเป็นเศรษฐกิจพิเศษของใคร เป็นความพิเศษของใคร ถ้าบอกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน น่าจะส่งเสริมสินค้าทางการเกษตรของท้องถิ่น เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนท้องถิ่นชายขอบมีรายได้ในฐานะเมืองหน้าด่าน ต้องให้คนที่อยู่ชายขอบได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจพิเศษ เป็นคนพิเศษอันดับหนึ่ง ก่อนที่คนภายนอกจะมามีผลประโยชน์ต่อเนื่อง


ทั้งนี้ การพัฒนากลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาบริการสาธารณะและการตรวจสอบภาครัฐ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหลักข้อที่ 11 "การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ" ซึ่งรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอาจต้องเตรียมชี้แจงในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาล วันที่ 25 - 26 ก.ค. นี้ ว่าจะมีการทบทวนนโยบายและแผนการพัฒนาอีอีซีให้สอดคล้องกับนโยบายอื่นๆ อย่างไร เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสุดท้าย คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และคนไทยมีความมั่นคงและอยู่ดีมีสุข

 

[ทีมข่าววาระทางสังคม]

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลิกปมข่าว : EEC ยั่งยืน หรือ ย้อนแย้ง

เครือข่ายภาคตะวันออก เดินหน้าคัดค้านผังเมืองอีอีซี

เปิด "คำแถลงนโยบาย" ครม.ประยุทธ์ ก่อนเข้าสภา 25 ก.ค.นี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง