ส.ส.รัฐบาล ลุกประท้วงแข็งขัน

การเมือง
25 ก.ค. 62
13:36
4,139
Logo Thai PBS
ส.ส.รัฐบาล ลุกประท้วงแข็งขัน
บรรดา ส.ส.พลังประชารัฐ ที่เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล ลุกขึ้นประท้วงผู้อภิปรายรุ่นใหญ่ ทั้ง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, วันมูหะมัดนอร์ มะทา

วันนี้ (25 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการอภิปราย ระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อว่า จากนั้น เวลา 12.00 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญเป็นประชามติแบบมัดมือชก ออกกฎหมายห้ามรณรงค์เรื่องการทำประชามติ เอาผิดผู้เห็นต่าง ความเห็นตรงข้ามรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างการตั้งครู ก. ครู ข.ครู ค. พ่วงการแต่งตั้ง 250 ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯ คิดสูตรคำนวณ ส.ส. สรุปว่ารัฐบาลนี้เป็นการสืบทอดอำนาจ ได้รัฐมนตรีคนเดิม ๆ กระทรวงสำคัญเดิม ๆ หากการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่แก้รัฐธรรมนูญส่วนนี้ ก็จะได้พบกับนายกฯ และคณะรัฐมนตรีหน้าเดิม ๆ

 

 

รัฐมนตรีแต่ละท่านก็มาจากนายกฯ ที่แต่งตั้งและให้รัฐมนตรีตั้งพรรรคการเมือง โดยใช้ชื่อตามนโยบาย ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็กลับมาเป็นแคนดิเดต

 

ซื้อเสียง เติมเงินในบัตรคนจน

“ก่อนเลือกตั้งไม่นาน ก็ดำเนินการที่ผมเรียกว่า เป็นการซื้อเสียงด้วยซ้ำไป โดยอนุมัติงบประมาณกลาง ใส่ในบัตรคนจนหลายครั้ง รวมทั้งโอนงบฯ จำนวนหนึ่งให้ อสม. เพียง 2 วันก่อนการเลือกตั้ง” นายสมพงษ์อภิปราย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มคุณสมบัติรัฐมนตรีอย่างเข้มข้น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่รัฐบาลนี้มีคณะรัฐมนตรีนี้หลายคนที่มีคดีความผิดติดตัว ทั้งที่มีโทษถึงประหารชีวิต และคดียาเสพติด

มีการแก้ต่างว่า ความผิดดังกล่าวเกิดในต่างประเทศ แต่ลืมคิดไปว่าความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ห้ามไม่ให้ผู้ที่มีคดียาเสพติดเล่นการเมืองตลอดชีวิต

 

ตั้งรัฐบาล มีรัฐมนตรีเป็นนอมินี

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายเพิ่มเติมว่า นายกฯ พูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง แต่การตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องแปลก ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเลย เช่น พี่เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ให้น้องเป็นแทน มันไม่สวยงามและพิลึกยิ่งกว่าการเป็นนอมินี

คุณสมบัตินายกฯ ท่านเป็นหัวหน้า คสช. ไม่เห็นว่าจะใช้ประโยชน์อะไรที่บอกว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมีเงินเดือนและมีคำสั่งออกมามากมาย หากผู้ไม่ปฏิบัติตามก็มีความผิดตามกฎหมาย

ต่อมานายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงการอภิปรายคุณสมบัตินายกฯ ระบุว่า เป็นเรื่องซ้ำซากและผิดข้อบังคับข้อ 43

จวกนโยบายเศรษฐกิจเหลว

จากนั้น นายสมพงษ์อภิปรายต่อว่า นโยบายความล้มเหลว 3-4 ข้อ คือ ล้มเหลวปัญหาเศรษฐกิจ รวยกระจุกจนกระจาย พี่น้องหาเช้ากินค่ำมีความลำบาก ส่วนการขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี พร้อมฝากถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นประวัติการณ์ เพราะเศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนอยู่ลำดับท้ายๆ ของอาเซียน โดยหนังสือพิมพ์ต่างประเทศขนานนามไทยว่า ผู้ป่วยของเอเชีย

 

 

จากนั้น น.ส.ปรีณา ลุกขึ้นประท้วงนายสมพงษ์อีกว่า ขนานนามไทยว่า "ผู้ป่วยของเอเชีย" เป็นการพูดจาเสียดสี แต่ประธานสภาฯ ชี้แจงว่า หากผู้อภิปรายพูดไม่จริงก็ให้แก้ไขได้ ไม่ได้ละเมิดใดใด

จากนั้นจึงให้นายสมพงษ์ ที่อภิปรายต่อว่า เมื่อสินค้าขายไม่ได้ โรงงานอุตสาหกรรมก็หยุดนิ่ง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจเข้ามาลงทุน อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้ผลักดันเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจรากหญ้า จนเกิดความเหลื่อมล้ำมาก โดยปี 2016 คนไทยรวยที่สุด 1% (6.7 หมื่นคน) แต่ปี 2018 กลุ่มดังกล่าวครอบครองทรัพย์สิน 2 ใน 3 ของประเทศ

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาการปฏิรูปการเมือง กรณีใช้ ม.44 ให้นักการเมืองท้องถิ่นยุติการทำหน้าที่ แต่ต่อมาไม่ทราบว่าเจรจาอย่างไร นักการเมืองท้องถิ่นกลับมาทำงานและร่วมขึ้นเวทีหาเสียงของพรรครัฐบาล ส่วนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังไม่มีคำตอบเรื่อง “จ่านิว”

 

 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ฝ่ายค้านคนที่ 2

จากนั้น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านคนที่ 2 ลุกขึ้นอภิปรายว่า ผมเห็นว่าเป็นนโยบายดังกล่าวเลื่อนลอย จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ พูดเรื่อยเปื่อยไป แม้แต่นายกฯ ที่เป็นคนแถลงนโยบาย ยังรู้สึกว่าไม่อยากจะอ่าน เพราะนโยบายไม่จูงใจให้อ่าน

ขณะที่กองทัพมีการใช้งบประมาณมากเกินขอบเขต โดยต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสม แบ่งบางส่วนมาใช้กับการค้าการลงทุน พร้อมอภิปรายอีก 7 ข้อ เช่น นายกฯ เข้าสู่อำนาจโดยขาดความชอบธรรม เอื้อประโยชน์, ล้มเหลวบริหารเศรษฐกิจ, เมินต่อการปราบปรามทุจริต, บิดเบือนกลไลกฎหมายช่วยพวกพ้อง, โกหกประชาชนและนานาชาติ โดยบอกว่าจะนำเข้าสู่ประชาธิปไตย แต่ขณะนี้เป็นประชาธิปไตยครึ่งเผด็จการ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวต่อว่า นโยบายนี้ยากในการติดตาม ทั้งผู้ปฏิบัติและการตรวจสอบ โดยเฉพาะในภาคประชาชน เป็นนโยบายที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ประชาชนและนักลงทุนเชื่อมั่นที่จะลงทุน เพราะไม่มีเป้าหมายว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ หรือประเมินผลอย่างไร

นโยบายนี้เขียนหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ เพราะไม่ได้กำหนดชัด โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ จะทำอย่างไร และจบเมื่อไหร่

ในหน้า 2 ข้อ 2 ของหนังสือแถลงนโยบาย ระบุว่า จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จุดนี้ผมไม่เชื่อมั่น เพราะคนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต้องไม่เคยทำรัฐประหารและยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ

จากนั้น เวลา 12.38 น. น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงประธานรัฐสภาฯ ว่า ผู้อภิปราย บิดเบือน ซ้ำซาก ทุกคนในสภาฯ มาจากการเลือกตั้งที่ถูกกฎหมายและอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

 

 

ส.ส.คนดี แต่สัมมนาในรีสอร์ตผิดกฎหมาย

นายวันมูหะมัดนอร์ ไม่ได้ให้ความสนใจกับการประท้วง และอภิปรายต่อว่า หากบอกว่าจะยึดมั่นตามระบอบเผด็จการประชาธิปไตยอย่างที่เคยได้ยินกันมา ผมอาจจะเชื่อมากกว่า

นโยบายในหน้า 4 ข้อ 2.3 ระบุว่า พร้อมส่งเสริมให้นักการเมืองมีคุณภาพ เป็นคนดี และมีคุณธรรม แสดงให้เห็นว่านักการเมืองไม่มีคุณภาพ ผมอยากถามว่า รัฐมนตรี และ ส.ส.พรรคของท่าน ไปสัมมนาในรีสอร์ตที่ผิดกฎหมาย นี่จะเรียกว่ามีคุณภาพได้อย่างไร

วันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า หน้า 7 ระบุว่า การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค ข้อ 5.1.2 กำกับวินัยการเงินการคลัง โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐดูแลอย่างเคร่งครัด ซึ่งบทบาทของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ทราบว่ามีความพร้อม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีวินัยการเงินขนาดมากน้อยเพียงใด เพราะย้อนไปสมัยที่ดูแลสถาบันการเงิน ธนาคารกรุงไทย ได้อนุมัติเงินอย่างผิดกฎหมายเกือบ 1 หมื่นล้าน ซึ่งระบุชัดว่า กรรมการจะอนุมัติเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยมีเสียงคัดค้าน ซึ่งบันทึกการประชุมไม่ได้ระบุว่า ท่านอุตตม คัดค้าน แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่ามีวินัยทางการเงิน ท่านหลุดมาได้ ผมไม่ว่าอะไร แต่ท่านมาดูแลเงินของประเทศ เงินของผมด้วย ผมก็ไม่มั่นใจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง