“สมคิด” ระบุแก้เศรษฐกิจต้องรื้อทั้งระบบ

การเมือง
25 ก.ค. 62
23:02
11,723
Logo Thai PBS
“สมคิด” ระบุแก้เศรษฐกิจต้องรื้อทั้งระบบ
"สมคิด" ชี้แก้เศรษฐกิจมหภาคต้องแก้ทั้งโครงสร้าง สิ่งสำคัญคือความเหลื่อมล้ำ ราคาผลผลิตการเกษตร หรือแม้แต่ปฏิรูปการศึกษา

วันนี้ (25 ก.ค.) เวลา 21.50 น. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อภิปรายว่า ผมเคยอยู่ในการเมืองสมัยโน้น อยู่ในพรรคไทยรักไทย ร่วมกับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ การบริหารเศรษฐกิจของประเทศไม่ใช่ของง่าย ปัญหาเมืองไทยมากกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หากไม่เปลี่ยนแปลง โอกาสที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นก็ไม่ง่าย สมัยนั้นใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี ฟื้นฟูวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่โอกาสในการขับเคลื่อนยาก เพราะต้องมีนโยบายระยะยาว

แต่ระบบการเมือง รัฐสภา แบบเดียวก็เลือกตั้งใหม่ แบบเดียวรัฐบาลก็ล่ม นโยบายส่วนใหญ่ออกมาในระยะสั้น เพื่อเรียกร้องคะแนนนิยม ใน 6 ปีที่เสียไป ทำได้อย่างเก่งฟื้นฟูประเทศจากต้มยำกุ้ง เคยมีการจะลงทุนเมกะโปรเจ็ก แต่ไม่ทันการณ์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ผมหายไป 10 ปี และกลับมาอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้เป็นที่ปรึกษา ซึ่งเศรษฐกิจในขณะนั้นไม่ดี เปรียบเหมือนชีพจรที่เต้นแผ่ว ก่อนหน้านั้นบ้านเมืองจลาจลวุ่นวาย มีน้ำท่วมใหญ่ แต่ไม่โทษใคร ถือเป็นโชคร้ายของไทย

นายสมคิด กล่าวว่า หลังจากนั้นเพียง 1 ปี จีดีพีขึ้นเป็น 7.2 % จากนั้นลงมาเหลือ 2.7 % และ 1 % ส่วนไตรมาส 1 ปี 2557 ติดลบ 0.4 % ก่อน คสช.เข้ามา เงินเฟ้อต่ำกว่าศูนย์ ไม่มีความมั่นใจเหลือ นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงมาเมืองไทย เพราะไม่ปลอดภัย

 

ท่านบอกว่า 5 ปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรเลย เละเทะ ผมไม่โต้เถียงท่านครับ ตอนที่เข้ามาผมประกาศกับทีมเศรษฐกิจว่ามี 2 อย่างที่ต้องทำ คือ จะให้ติดลบไม่ได้ เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ, กองทุนหมู่บ้านคนไทยเป็นเจ้าของ, ไม่เลิกโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค แต่พัฒนาให้ดีขึ้น, โครงการรับจำนำข้าว เลิกแน่ แรก ๆ ใช้ได้ แต่หลัง ๆ มันเพี้ยน ข้าวเต็มโกดัง 17 ล้านตัน กดดันราคาข้าวตกต่ำทั่วโลก รวมทั้งไทย

รัฐบาลพยายามทำงานอย่างหนัก จนกระทั่งจีดีพีขึ้นเป็น 4.8 % นี่ไม่ได้คุยและไม่ได้ดีใจ ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่า อย่าฝันจะได้เกิน 5 % หากไม่ปฏิรูป

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จีนกับสหรัฐฯ มีปัญหากัน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างไทยก็มีปัญหาเพราะเรามีสินค้าอยู่ไม่กี่อย่าง กินแค่การรับจ้างผลิต สินค้าเกษตรไม่เคยยกระดับ นี่คือสิ่งที่ต้องปฏิรูปร่วมกัน

เรากินบุญเก่าประเทศมา 30 ปี ตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี แหลมฉบัง มาบตาพุด ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรเลย หากไม่สร้างสิ่งใหม่จะจูงใจนักลงทุนได้อย่างไร เรามีอะไรดีกว่าเวียดนาม เมียนมา ค่าแรงก็แพงกว่าเขา เทคโนโลยีก็ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ซ้ำร้ายในอนาคตเทคโนโลยี พฤติกรรมคน การค้าเปลี่ยนแปลง หากเราไม่เปลี่ยนตามสิ่งเหล่านี้ให้ทัน คิดว่าเราจะอยู่ได้ไหม

รัฐบาลพยายามวางรากฐานเพื่อเปลี่ยนแปลง ข้อแรกคือความเหลื่อมล้ำ สินค้าเกษตรทั่วโลกตกต่ำ โดยเฉพาะข้าว มีแรงกดดันจากข้าวในสต็อกมหาศาล ไม่โทษว่าใครทำอะไรไว้ เพราะใครทำอะไรไว้ก็เป็นเรื่องของกรรมแต่ละคน

อย่างสมัยไทยรักไทยปลูกยางทั้งประเทศ ไม่ได้บอกว่าปลูกยางไม่ดี แต่ไม่เปลี่ยนแปลงการผลิตยาง 15 ปี ผ่านไปยังขอให้จีนซื้อข้าวซื้อยาง ผมขายหน้า พูดตรง ๆ ฉะนั้นต้องพยายามเต็มที่ ก่อนอื่นชาวนาเกือบ 30 ล้านคน จีดีพีไม่ถึง 10 % ทางเดียวที่จะช่วยได้ในระยะสั้น คือ เพิ่มรายได้ที่ให้อยู่ได้อย่างพอมีพอกิน

นายสมคิด กล่าวอีกว่า การจำนำยุ้งฉาง ทุกองค์กรต่างทุ่มเทไปที่คนจนทั้งสิ้น แต่ราคาแค่นั้นไม่เพียงพอ ที่มีข่าวชาวนาฆ่าตัวตายทุกคนเสียใจหมด แต่โครงสร้างทุกระบบไม่เอื้ออำนวยเขาเลย ทำไมต่างประเทศแปรรูป ค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซได้

สิ่งที่เรากล้าทำ คือ ระบบพร้อมเพย์ ที่มีข้อดีคือ ลดต้นทุนทรานเฟอร์เงินปีละเป็นหมื่นล้านบาท ไปถึงมือชาวบ้านได้ ร้านค้ารายย่อยได้ สวัสดิการประชารัฐมาพร้อมกับพร้อมเพย์ ท่านบอกว่า เอื้อคนรวย ผมเรียนตรง ๆ พวกเราหลายคนเติบโตมาจากครอบครัวที่จน รู้ว่าแย่อย่างไร รายได้ 3 หมื่นบาทต่อปีอยู่กันได้อย่างไรทั้งครัวเรือน ต้องการให้ชาวนาเกษตรกรซื้อของที่จำเป็นเท่านั้น

พยายามจูงใจให้ร้านค้าย่อยมีเครื่องรูดการ์ด จนกระทั่งให้เงินเพิ่มเติมช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีเจตนาแจกเงิน แต่เขาเหล่านั้นมีเงินเพียงปีละ 3 หมื่นบาทเท่านั้นเอง เราต้องการประทังชีวิตเขาให้ได้ เป็นมาตรการระยะสั้นทั้งนั้น

 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การส่งออกพยายามหาตลาดใหม่ สินค้าของไทยต้องแข่งขันได้ มีมูลค่าสู้ได้ แต่ถ้ามีอุตสาหกรรมเดิม 4 - 5 ตัว ยานยนต์ทั้งประเทศไปได้เลย สินค้าเกษตรที่แปรรูปนี่คือหัวใจ รวมทั้งประกาศอุตสาหกรรมใหม่ ท่องเที่ยวเมืองรองเพื่อแก้ปัญหายากจน ให้ชุมชนเข้มแข็ง

ความสงบที่เรามีทำให้จีนเลือกเราเป็นศูนย์กลาง บอกได้เลยว่า อีอีซี นี่คือโอกาสที่เราสร้างขึ้นมา หากไม่มีสิ่งนี้ เขาจะมาหรือไม่ ทำไมไทยจึงสามารถสร้างมาสเตอร์แพลนร่วมได้ มีโอกาสทั้งนั้นอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ

ไทยเป็นประธานอาเซียน ทุกคนบอกว่าเราคือเพชรของอาเซียน ตอนที่ไทยมีปัญหา 6-7 ปีที่แล้ว ฮุนเซนห่วงเมืองไทยมาก เพราะถ้ามีปัญหาจะทำเกิดปัญหาใหญ่ในอาเซียน

ถ้าบอกว่าไม่ดีอีก ทำไมธนาคารโลกถึงออกรีพอร์ตเดือนเมษายน ยกย่องไทยเป็นตัวอย่างพัฒนาประเทศจากด้อยพัฒนามาถึงระดับนี้ แต่เตือนว่าต้องปฏิรูปการศึกษา คน ที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง