จี้เร่งนโยบายแก้ภัยแล้ง ไม่ขึ้นค่าแรง จัดการคอร์รัปชัน

การเมือง
26 ก.ค. 62
10:45
266
Logo Thai PBS
จี้เร่งนโยบายแก้ภัยแล้ง ไม่ขึ้นค่าแรง จัดการคอร์รัปชัน
ส.ส.จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร ระบุอย่าขึ้นค่าแรงจะทำให้เงินเฟ้อ และควรแก้ปัญหาคอร์รัปชันจริงจัง อย่าเอาแต่พูด

ประธานสภาให้เสรีพิศุทธ์ เข้าร่วมประชุมได้

วันนี้ (26 ก.ค.) เวลา 09.39 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เปิดการแถลงนโยบายรัฐบาล วันที่ 2

เวลา 09.40 น. นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า เมื่อวาน (25 ก.ค.) ใช้เวลาไป 12 ชั่วโมง โดยวันนี้เหลือเวลา 16 ชั่วโมง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอภิปรายจบช่วง 01.00 - 02.00 น. จึงขอให้สมาชิกรัฐสภาช่วยรักษาเวลาด้วย

เวลา 09.45 น. น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ถามประธานที่ประชุม กรณีที่ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกจากห้องประชุมแล้ว ไม่ทราบว่าอนุญาตให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เข้ามาในห้องประชุมได้แล้วหรือไม่

นายพรเพชร ตอบว่า การให้ออกจากห้องประชุมไม่ได้กำหนดเวลา วันนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ สามารถเข้าประชุมได้

ระบุนโยบายขึ้นค่าแรงทำให้ค่าครองชีพสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ฝ่ายค้านเริ่มอภิปราย นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปรายเป็นคนแรก ระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจกว้างมากและยากมากที่จะพยุงเศรษฐกิจในประเทศได้ เชื่อว่ารัฐบาลจะมีนโยบายพิเศษที่จะช่วยเหลือปากท้องประชาชนได้บ้าง แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี ก็อาจเป็นโอกาสของไทยที่จะเร่งพัฒนาให้ดีขึ้น หากมองกลับไปที่ประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้จุดแข็งของตัวเอง ซึ่งไทยก็ต้องมี Positioning ของตัวเองว่าเรามีจุดแข็งที่ไหน

สิ่งที่กังวลคือนโยบายขึ้นค่าแรงจาก 300 เป็น 400 บาท ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ เงินเฟ้อ เราอาจได้เห็นก๋วยเตี๋ยวชามละ 100 บาท มันเกิดขึ้นได้ถ้าค่าแรงเราแพงขนาดนี้ มากกว่าเพื่อนบ้านเท่าตัว ถ้าต้นทุนในประเทศสูง นักลงทุนย้ายไปที่อื่นแน่นอน ขอให้รัฐบาลพิจารณาวิธีอื่น

นายภาสกรกล่าวว่า ส่วนเรื่องไอที การค้าธุรกิจของคนรุ่นใหม่ขึ้นไปบนอีคอมเมิร์ซ เอ็มมาร์เก็ตเพลสหมดแล้ว แต่คนไทยไม่มีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง โรงงานเป็นของเขา คนงานเป็นของไทย พอเขาสั่งของจากโรงงานเขาไปส่งประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย เขาไม่เสียภาษี แต่หากสั่งจากโรงงานไทยเขาเสียภาษีถึง 3 เท่า

ในอนาคต คนไทยอาจกำลังกลายเป็นผู้ซื้อและไม่มีผู้ขาย เพราะต้นทางเป็นของเขา คนขายเป็นของเขา ช่องทางเป็นของเขา เหลือแค่อย่างเดียวคือ ผู้ซื้อ ต่อไปอาจไม่เหลืออะไรที่คนไทยเป็นเจ้าของอีกเลย

หนุนสร้างสนามบินนราธิวาส ลดรุนแรงภาคใต้

เวลา 10.00 น. นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.พรรคประชาธรรมไทย อภิปรายว่า นโยบายรัฐบาล ข้อ 4 หน้า 5 การสร้างบทบาทไทยในเวทีโลก ขอเน้นไปที่การลงทุนและแรงงานในกลุ่มตะวันออกกลาง การขยายสนามบินที่บ้านทอน จ.นราธิวาส เพื่อเป็นเส้นทางขนส่งผู้แสวงบุญ ขนส่งแรงงาน หรือนักลงทุนได้มาก ผมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการเปิดตลาดใหม่ ความรุนแรงในพื้นที่ไหนแม้จะมีมาก แต่หากความเจริญเข้าไปถึง ความรุนแรงจะเบาบางลง ผมจึงเห็นด้วยกับนโยบายนี้

แนะผุดโขง-ชี-มูลแก้ภัยแล้งอีสาน

เวลา 10.05 น. นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.พรรคพลังไทยรักไทย อภิปรายมาตรการภัยแล้งว่า ทุกรัฐบาลประสบภัยแล้ง จึงขอผลักดันโครงการโขง ชี มูล ทั้งระบบรางส่งน้ำ ระบบผันน้ำ ให้ทุกพื้นที่ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง เพราะน้ำคือหัวใจด้านเกษตรกรรมของคนไทยทั้งประเทศ

จี้เร่งแก้คอร์รัปชัน อย่าดีแต่พูด

เวลา 10.08 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายว่า เห็นด้วยกับนโยบายหลักข้อ 12 และนโยบายเร่งด่วนข้อ 8 ที่ระบุว่า จะปฏิบัติกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการทุจริต แต่จะทำให้ได้ผลดี รัฐบาลต้องอย่าดีแต่พูด อย่าปากว่าตาขยิบ ถ้าเกิดคอร์รัปชันที่หน่วยงานใด นายกฯ ต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดทันที โดยเฉพาะเรื่องค่าโง่ต่างๆ

เวลา 10.11 น. นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.พรรคประชาธิปไตยใหม่ อภิปรายว่า การช่วยเหลือเกษตรกรเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะเกษตรกรที่รวมตัวกันชุมนุม ทั้งจากปัญหาที่ดิน ป่าไม้ เขื่อน ที่มาเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ขอให้ช่วยพี่น้องพวกนี้ด้วย ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาจากนโยบายรัฐบาลทั้งสิ้น

เน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกร

เวลา 10.15 น. นายบุญส่ง ไข่เกษ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า เรื่องภัยแล้ง โครงการที่พูดถึงโขง ชี มูล ผมอยากให้เกิดขึ้น แต่ต้องใช้เม็ดเงินหลายแสนล้าน หากเกิดขึ้นจะช่วยประชาชนได้มาก โดยเฉพาะพี่น้องภาคอีสานที่มีรายได้น้อยสุดในประเทศ ซึ่งโครงการนี้เริ่มพัฒนาแล้วและมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

เวลา 10.22 น. พล.อ.ดนัย มีชูเวท สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายนโยบายด้านเกษตร ระบุ ตามคำแถลงนโยบายหลักข้อ 5 และเร่งด่วนข้อ 12 ทั้ง 2 เรื่องเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตร โดยจะแก้ปัญหาระยะยาวมีอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ อยากให้รัฐบาลสานต่อแม้จะนาน 20 ปี เพราะการสร้างอ่างเก็บน้ำต้องใช้เวลา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง