แก้แบบช้า เพราะหา “คนเซ็น”

สังคม
30 ก.ค. 62
09:50
1,155
Logo Thai PBS
แก้แบบช้า เพราะหา “คนเซ็น”
เปิดหลักฐาน ชี้ ผู้รับเหมาขอ "กรมทางหลวง" แก้แบบตั้งแต่ ปี 61 แต่กระบวนการล่าช้ากว่า 1 ปี สาเหตุมาจากการตีความกฎหมายว่าใครคือผู้มีอำนาจเซ็นแก้ไขแบบและสัญญา

หลังจากไทยพีบีเอสออนไลน์ พบหลักฐานว่า แบบก่อสร้างถนนพระราม 2 มีปัญหาแต่ต้น โดยเฉพาะการออกแบบ “ผิวถนน” เพียง 13 ซม. ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการจราจรบนถนนพระราม 2 ที่มีรถสัญจรหลัก “แสน” คันต่อวัน นำไปสู่การค้นหาข้อมูลที่เป็นต้นตอของปัญหาดังกล่าว

พบว่าโครงการปรับขยายทางช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ผู้รับเหมา ได้ส่งหนังสือทักท้วงไปยังกรมทางหลวง ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2561 หลังเซ็นสัญญาเริ่มโครงการไปแล้ว 1 เดือน (เซ็นสัญญาโครงการ19 ก.พ.2561) สาระสำคัญของหนังสือดังกล่าว คือการขอให้กรมทางหลวง ทบทวน “ความหนาโครงสร้างทาง” ซึ่งหมายถึงผิวถนน หรือที่รู้จักทั่วไปคือยางมะตอย

ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวได้แนบรายละเอียดโครงการก่อสร้างถนนที่ลักษณะคล้ายกัน คือการปรับปรุงถนน "สายสมุทรสาคร – อ.ปากท่อ ส่วนที่ 3" ก่อสร้างช่วงเดือน มิ.ย.2549 – เดือน มิ.ย. 2551 ซึ่งถนนช่วงดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ ต.วังมะนาว เป็นพื้นที่ชานเมือง มีรถวิ่งน้อยกว่าถนนช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ที่กำลังมีการปรับขยายถนนอยู่ในขณะนี้

ถนนที่มีการก่อสร้างขณะนั้น เมื่อปี 2549 กลับถูกออกแบบให้ “ผิวถนน” หนาถึง 20 ซม. แต่ผิวถนนในโครงการที่กำลังมีการปรับขยายช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย กลับออกแบบผิวถนนเพียง 13 ซม.

 

แบบการก่อสร้างถนน ปี 2549 สายสมุทรสาคร-อ.ปากท่อ ส่วนที่ 3 มีความหนาผิวทาง 20 ซม.

แบบการก่อสร้างถนน ปี 2549 สายสมุทรสาคร-อ.ปากท่อ ส่วนที่ 3 มีความหนาผิวทาง 20 ซม.

แบบการก่อสร้างถนน ปี 2549 สายสมุทรสาคร-อ.ปากท่อ ส่วนที่ 3 มีความหนาผิวทาง 20 ซม.

 

แบบการก่อสร้างถนน ปี 2561 บางขุนเทียน-เอกชัย มีความหนาผิวทาง 13 ซม.

แบบการก่อสร้างถนน ปี 2561 บางขุนเทียน-เอกชัย มีความหนาผิวทาง 13 ซม.

แบบการก่อสร้างถนน ปี 2561 บางขุนเทียน-เอกชัย มีความหนาผิวทาง 13 ซม.

 

ประเด็นที่ 2 ผู้รับเหมา ทักท้วงถึง “สารตั้งต้น” หรือปัจจัยที่ผู้ออกแบบ น่าจะคำนวณผิดพลาด คือ จำนวนการจราจรบนถนนช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย เพราะตามเอกสารที่ผู้ออกแบบใช้แนบสัญญา คำนวณว่าจะมีรถสัญจรผ่านถนนเส้นนี้เพียง 1.2 หมื่นคันต่อวัน ทั้งที่ข้อมูลโดยกรมทางหลวง ระบุว่า มีรถวิ่งออกจากกรุงเทพฯ 2.7 แสนคันต่อวัน และคาดว่ามีรถผ่านบนถนนช่วงนี้ กว่า 1 แสนคันต่อวัน

 

ขณะที่ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (19 ก.ค.2562) ชี้แจงว่า สาเหตุที่มีการออกแบบผิวถนน 13 ซม. เพราะการออกแบบเบื้องต้น คาดว่าจะมีการก่อสร้างถนนยกระดับแล้วเสร็จ จึงคาดว่ารถบางส่วนจะวิ่งขึ้นทางด่วน และลดปริมาณรถบนถนนลง จนนำมาสู่การคำนวณผิวถนนข้างต้น

มีรายงานว่า ขั้นตอนการแก้ไขแบบ เริ่มตั้งแต่ผู้รับเหมาส่งหนังสือถึงกรมทางหลวง ลงวันที่ 15 มี.ค.2561 จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการร่วมขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนจากนายช่างผู้ควบคุมงาน , ตัวแทนจากสำนักสำรวจและออกแบบ , ผู้มีอำนาจตัดสินใจของกรมทางหลวง เป็นต้น

เมื่อคณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันว่าต้องปรับแก้ไขแบบ สำนักสำรวจและออกแบบ จะส่งแบบกลับไปยังบริษัทผู้ออกแบบเพื่อปรับแก้ไขแบบ ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจในการแก้ไขแบบ จะต้องดำเนินการทางธุรการให้เรียบร้อย

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ติดปัญหาในการเซ็นอนุมัติการแก้ไขแบบ เพราะ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่มีการแก้ไขและประกาศใช้ ปี 2560 มีปัญหาการตีความกฎหมาย ว่า "บุคคล" ใด ที่มีอำนาจในการเซ็นรอบรองการแก้ไขแบบ และการแก้ไขแบบจะกระทบกับการแก้ไขสัญญาณด้วย จึงเป็นปัญหาซ้อนทับ 2 ประเด็น

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า อธิบดีกรมทางหลวง ตัดสินใจเซ็นอนุมัติแบบแล้ว ตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2561 ซึ่งคาดว่าปัญหาการแก้ไขแบบนี้จะเสร็จเรียบร้อย และทำให้ผู้รับเหมาสามารถเบิกจ่ายงบฯ เพื่อดำเนินโครงการปรับขยายถนนช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ได้ตามปกติ

 

สถานการณ์ปัจจุบัน (30 ก.ค.2562) พบว่า โครงการปรับขยายทาง ทั้ง 3 ตอน มีความคืบหน้าแล้ว โดยเฉพาะตอนที่ 3 (ช่วงวัดพันท้ายนรสิงห์-เอกชัย) ที่มีการปูยางมะตอยไปชั้นหนึ่งแล้ว ส่วนตอนที่ 2 และตอนที่ 3 เริ่มมีการสร้างชั้นทาง เช่น การเทหินปดผสมซีเมนต์ จากเดิมที่มีการเปิดหน้างานทิ้งไว้เท่านั้น

ทั้งนี้การลงพื้นที่ของไทยพีบีเอสเพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าว ตั้งแต่ 3 ก.ค.2562 กระทั่งมีการเปิดเผยแบบการก่อสร้าง และสัญญาการก่อสร้าง ขณะเดียวกันสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และกลุ่มคนรักพระราม2 ได้ออกมาชุมนุมประท้วงการก่อสร้างที่ล่าช้า ส่งผลมีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องของกรมทางหลวง ในวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา

ระหว่างนี้มี รมว.คมนาคม คนใหม่ คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้รับทราบและติดตามปัญหานี้ ด้วยการลงพื้นที่แล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 21 ก.ค. และครั้งที่ 29 ก.ค. โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งนายศักดิ์สยาม ระบุว่าไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหา ที่ยังมีช่วงการจราจรติดขัดอยู่ 400 เมตร จากเดิม 2 กม. พร้อมขู่ว่าหากแก้ปัญหาจราจรไม่ได้ จะไม่ให้เริ่มโครงการก่อสร้างทางยกระดับในเส้นทางนี้

อย่างไรก็ตาม การติดตามปัญหาของ รมว.คมนาคม ยังไม่มีการหยิบยกประเด็นการแก้ไขแบบที่มีปัญหาและก่อให้เกิดความล่าช้าขึ้นมาพิจารณา ซึ่งเป็นปัญหาภายในของกรมทางหลวงที่สมควรได้รับการแก้ไข แต่ได้เดินหน้าเรื่องการลดผลกระทบจากการจราจรไปแล้วบางส่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง