ตรวจสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม บางยี่ห้อเกินมาตรฐาน 11 เท่า

สังคม
1 ส.ค. 62
12:18
4,926
Logo Thai PBS
ตรวจสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม บางยี่ห้อเกินมาตรฐาน 11 เท่า
มพบ.เปิดเผยผลตรวจสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม 17 ยี่ห้อรอบสอง พบเพียง 2 ยี่ห้อ ที่ตรวจไม่พบสารกันบูด ที่เหลือกว่าร้อยละ 63 พบสารกันบูดเกินมาตรฐานและไม่ระบุข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลาก พร้อมแนะหน่วยงานรัฐจัดอบรมความรู้การใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างถูกต้อง

วันนี้ (1 ส.ค.) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มในพื้นที่ภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง ในเดือนมิถุนายน 2562 และส่งตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก เป็นครั้งที่ 2

น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากผลทดสอบตัวอย่างน้ำพริกหนุ่ม ที่พบสารกันบูดมีปริมาณสูงถึง 5,649.43 มก./กก. ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ถึง 11 เท่า (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และ ประเภทกรดซอร์บิก ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 1000 มก./กก. ในหมวดอาหารประเภทเครื่องปรุงรส ) และหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร เช่น วัตถุกันเสีย ก็ต้องระบุข้อมูลการใช้สารกันบูดไว้บนฉลากบรรจุภัณฑ์

ซึ่งน้ำพริกหนุ่มทั้ง 17 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 2 ตัวอย่าง ที่ไม่พบสารกันบูดเลย ได้แก่ 1.น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ และ 2.ยี่ห้อ วรรณภา จากร้านวรรณภา จ.เชียงราย

และมีน้ำพริกหนุ่ม 8 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก แต่ไม่เกินมาตรฐาน (ไม่เกิน 500 มก./กก.) ได้แก่ 

1.ยี่ห้อ แม่ศรีนวล อ.เด่นชัย จ.แพร่ พบกรดเบนโซอิก 30.67 มก./กก.
2.ยี่ห้อ มารศรี ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบกรดเบนโซอิก 36.92 มก./กก.
3.ยี่ห้อ แม่มารศรี ร้านปะเลอะเยอะแยะ จ.เชียงราย พบกรดเบนโซอิก 41.73 มก./กก.
4.ยี่ห้อ ป้าแอ็ด ตลาดหลักเมือง จ.ลำปาง พบกรดเบนโซอิก 387.38 มก./กก.
5.ยี่ห้อ ศุภลักษณ์ ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบกรดเบนโซอิก 51.92 มก./กก.และกรดซอร์บิก 338.17 มก./กก. (รวม 390.09 มก./กก.)
6.ยี่ห้อ อำพัน ร้านข้าวแต๋นของฝาก จ.ลำปาง พบกรดเบนโซอิก 435.29 มก./กก.
7.น้ำพริกหนุ่มอุ้ยแก้ว ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบกรดเบนโซอิก 437.27 มก./กก.
8.ยี่ห้อ นันทวัน จาก จ.เชียงราย พบกรดเบนโซอิก 455.80 มก./กก.

ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตถึงปริมาณกรดเบนโซอิกที่ตรวจพบเล็กน้อย อาจเป็นกรดเบนโซอิกจากธรรมชาติ ซึ่งไม่ได้มาจากการเติมโดยผู้ผลิต เพราะสารกันบูดในปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการใช้เพื่อการถนอมอาหาร


ส่วนน้ำพริกหนุ่มที่เหลืออีก 7 ตัวอย่าง ตรวจพบปริมาณสารกันบูดมากกว่า 500 มก./กก. ซึ่งเกินมาตรฐานและไม่มียี่ห้อใดเลยที่ให้ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ว่า ใช้สารกันบูด ได้แก่

1.ร้านดำรงค์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบกรดเบนโซอิก 890.32 มก./กก.
2.น้ำพริกหนุ่มล้านนา อ.เด่นชัย จ.แพร่ พบกรดเบนโซอิก 1,026.91 มก./กก.
3.ยี่ห้อ นิชา ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบกรดเบนโซอิก 1,634.20 มก./กก.
4.ยี่ห้อ เจ๊หงส์ จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบกรดเบนโซอิก 1,968.85 มก./กก.
5.ยี่ห้อ แม่ชไมพร ตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง พบกรดเบนโซอิก 2,231.82 มก./กก.
6.ยี่ห้อ ยาใจ (รสเผ็ด) อ.เด่นชัย จ.แพร่ พบกรดเบนโซอิก 3,549.75 มก./กก.
7.น้ำพริกหนุ่มอุมา ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบกรดเบนโซอิก 5,649.43 มก./กก.

นายแก้ว กังสดาลอำไพ นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า แม้ร่างกายจะขับสารกันบูดออกได้ทางปัสสาวะ แต่หากเราได้รับสารกันบูดบ่อยๆ จากอาหารหลายชนิดในสามมื้อ โดยเฉพาะในอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารแปรรูป อาจเกิดปัญหาต่อตับและไตซึ่งต้องทำงานหนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง