แรงงานหญิง ผิดหวังนโยบายรัฐบาลไม่ลดความเหลื่อมล้ำ

สังคม
1 ส.ค. 62
12:48
1,249
Logo Thai PBS
แรงงานหญิง ผิดหวังนโยบายรัฐบาลไม่ลดความเหลื่อมล้ำ
เครือข่ายองค์กรผู้หญิงทำงาน อ่านแถลงการณ์ผิดหวังต่อนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการลดความเหลื่อมในสังคม ขณะที่ ครสท.เตรียมทวงถามนโยบายค่าแรงต่อ รมว.แรงงาน วันนี้ (1 ส.ค.)

วันนี้ (1 ส.ค.2562) นางอรุณี ศรีโต สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวในเวทีเสวนา “วิพากษ์นโยบายรัฐบาล เสียงจากผู้หญิงคนทำงาน” ซึ่งจัดโดยกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับองค์กรเครือข่ายผู้หญิงทำงานว่า การแก้ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ ต้องมีการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมา แรงงานในโรงงานบางแห่งที่ทำงานมานานถึง 20 ปีได้รับค่าตอบแทนในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างและหากมีโครงสร้างค่าจ้างก็ไม่ต้องมาถกเถียงกันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี รวมทั้งควรเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในจำนวนครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการไตรภาคีทั้งหมด

 

 

ขณะที่ น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า การแถลงนโยบายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลไม่มีความชัดเจน ต่างจากที่หาเสียงไว้วันละ 400-425 บาท ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ ซึ่งทางเครือข่ายก็จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป

นางสุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า นโยบายมารดาประชารัฐยังจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี แต่ภาคประชาชนต้องการให้มีสวัสดิการสังคมที่ดูแลคนทั้งระบบ ไม่ใช่การสงเคราะห์เพียงชั่วคราว เช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

ทั้งนี้ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และองค์กรเครือข่ายผู้หญิงทำงาน ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ข้อเสนอต่อรัฐบาลว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาล ทำให้เกิดความผิดหวัง เพราะไม่มีทิศทาง เนื้อหา และแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และทวงถามความชัดเจนนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

และบ่ายวันนี้ (1 ส.ค.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อสอบถามถึงนโยบายด้านแรงงาน รวมทั้งความชัดเจนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

ขณะที่นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสมทบในศาลแรงงาน คาดว่าจะมีการหารือเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 ซึ่งส่วนตัวมองว่าอัตราตัวเลขเดิมที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัด เสนอให้ปรับขึ้นในอัตรา 2-10 บาท อาจจะน้อยเกินไป และเป็นตัวเลขเก่าที่เสนอมาแล้วกว่า 1 ปี โดยขอให้พิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย พร้อมกันนี้ ยอมรับว่าอาจมีความกดดัน เนื่องจากพรรครัฐบาลได้มีนโยบายหาเสียงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 400 บาท แต่ต้องพิจารณาจากสภาพความเป็นจริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง