"คนสวย" ภาษาเรื่องเพศบนเวทีการเมือง

การเมือง
1 ส.ค. 62
16:50
3,712
Logo Thai PBS
"คนสวย" ภาษาเรื่องเพศบนเวทีการเมือง
ช่วงหนึ่งของการชี้แจงนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง นางสาวพรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ว่า “คุณคนสวย” ทำให้นางสาวพรรณิการ์ ลุกขึ้นประท้วง และนายกรัฐมนตรีได้ถอนคำพูดทันที
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“คุณคนสวย” คำนี้มองเผินๆ อาจจะดูเหมือนเป็นคำชม อีกฝ่ายน่าจะยินดี แต่มองให้ลึกลงไป คำๆ นี้อาจจะสะท้อนนัยยะบางอย่างเรื่องเพศในมุมของนักสิทธิสตรี นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า คำพูดนี้ สะท้อนระบบความคิด "ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง" หรือความไม่เท่าเทียม เพราะมองเรื่องรูปร่างหน้าตา ความสวยงาม มากกว่าศักยภาพของผู้หญิง

ความสวยมีนัยยะเรื่องการกดทางเพศอยู่ โดยที่เราอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เขาก็พูดกันแบบนี้ แต่จริงๆมันมีนัยยะ
จะเด็จ เชาว์วิไล

จะเด็จ เชาว์วิไล

จะเด็จ เชาว์วิไล

คำชมฉาบฉวย

ระบบบริโภคนิยมหรือทุนนิยมให้คุณค่าผู้หญิง เรื่องความสวยหรือรูปร่าง จากการโฆษณา ที่มีนางแบบ นายแบบ สวย หล่อ ผอม นายจะเด็จ ระบุว่า ทำให้คนในสังคมถูกปลูกฝังและเคยชิน ซึ่งผู้หญิงทุกคนมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน หากพูดคำว่า สวย อาจจะทำให้ผู้หญิงอีกกลุ่มที่ไม่สวย ไม่เป็นไปตามคำนิยามความสวยของคนทั่วไป หรือไม่เป็นไปตามวิธีคิดแบบบริโภคนิยม ถูกกดทับ

คนมองผู้หญิงเรื่องความสวยงาม เรื่องรูปร่างหน้าตา ลืมมองว่าผู้หญิงมีศักยภาพมากกว่าเรื่องความสวยงาม มีภูมิปัญญาเก่งๆดีๆเยอะแยะ แต่เราไม่ให้ค่าแบบนั้น จึงทำให้ทุกคนเคยชิน 

ไม่ใช่แค่นักการเมืองหญิงเท่านั้นที่ถูกมองหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก นักการเมืองชาย เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มักถูกระบุถึงลักษณะทางกายภาพ เช่น รูปร่างหน้าตาดี สื่อมวลชนประจำรัฐสภาเคยตั้งฉายาประจำปี 2554 ว่า "หล่อดีเลย์" สะท้อนนัยยะเรื่องเพศ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

"คำพูด" จุดเริ่มต้นคุกคามทางเพศ

หากพูดถึงคำว่าคุกคามทางเพศ หลายคนอาจจะนึกถึงการลวนลามทางร่างกาย การข่มขืน ทั้งที่จริงแล้วการคุกคามทางเพศมีหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ การมอง การใช้วาจา แม่แต่การพูดชมเรื่องรูปร่างหน้าตา จนไปถึงการสัมผัสร่างกาย นายจะเด็จ ระบุว่า จากการทำงานกับผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ หากผู้หญิงถูกคนระดับหัวหน้างาน หรือ บุคคลที่มีอำนาจเหนือกว่า เช่นพ่อ ปู่ ตา ลุง อา ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่น คุกคามทางเพศ ส่วนใหญ่จะทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำไม่กล้าพูด จึงนำไปสู่การคุกคามที่เพิ่มระดับมากขึ้น

บทเรียน-สะท้อนความคิดผู้พูด

กรณีที่เกิดขึ้น ผู้พูดเป็นบุคคลสาธารณะ ทำให้กลายเป็นประเด็นที่คนสนใจ นายจะเด็จ ระบุว่า คำพูดลักษณะนี้สะท้อนความเคยชินของผู้พูด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบุคคลสาธารณะ หรือ บุคคลทั่วไป แต่อีกด้านกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียน ให้ทุกคนได้มองย้อนความคิดของตัวเองก่อนจะกล่าวคำพูดใดกับบุคคลอื่น 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง