ปิดท่าทรายใน จ.นครพนม ลบภาพผู้ร้ายแม่น้ำโขงได้หรือไม่

สังคม
2 ส.ค. 62
16:29
1,127
Logo Thai PBS
ปิดท่าทรายใน จ.นครพนม ลบภาพผู้ร้ายแม่น้ำโขงได้หรือไม่
ปลายเดือนเมษายน 2562 ท่าทรายใน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถูกร้องเรียนบ่อยครั้ง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบนำไปสู่คำสั่งปิดท่าทรายหลายแห่ง แต่การแก้ปัญหาครั้งนี้จะช่วยลบภาพผู้ประกอบการท่าทรายที่มักถูกมองเป็นผู้สร้างปัญหาได้หรือไม่

ถนนพัง ฝุ่นฟุ้ง

บ้านนาเหนือ ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่หนึ่งที่ชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง และ ถนนเสียหาย อันเป็นผลสืบเนื่องจากรถบรรทุกทรายใช้เป็นเส้นทางสัญจร นอกจากนี้ยังพบว่ามีการดูดทรายใกล้กับพระธาตุท่าอุเทนซึ่งอยู่ในเขตชุมชนทั้งที่ตามกฎหมายระบุว่าการดูดทรายต้องห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 500 เมตร

นายกานต์ แก้วมาตย์ นายกเทศมนตรี ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตดูดทรายภายในประเทศ หรือที่เรียกว่าใบอนุญาตตามมาตรา 9 จะแก้ปัญหาด้วยการซ่อมแซมถนนบริเวณที่รถบรรทุกทรายวิ่งผ่าน รวมถึงฉีดน้ำเพื่อป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย นอกเหนือจากการเสียค่าธรรมเนียมดูดทรายคิวละ 28 บาทให้กับท้องถิ่น

แต่ปัญหาคือ การช่วยเหลือจำกัดอยู่ในพื้นที่ที่ท่าทรายตั้งอยู่เท่านั้น ทำให้ในพื้นที่ที่รถบรรทุกทรายวิ่งผ่านเป็นประจำแต่ไม่มีท่าทรายอยู่ในพื้นที่เช่นที่บ้านน้อยหัวบึง ซึ่งอยู่ติดกับบ้านนาเหนือ ที่นั่น ชาวบ้านยังต้องช่วยเหลือตัวเองในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง และ แบกรับผลกระทบจากถนนที่ได้รับความเสียหาย

ตรวจสอบลักลอบดูดกรวด-ทรายแม่น้ำโขง

อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินการท่าทรายใน อ.ท่าอุเทน เป้าหมายเพื่อตรวจสอบว่า พื้นที่ดูดทรายเกินแนวเขตที่ได้รับอนุญาตหรือไม่, มีการลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมายเข้า-ออกประเทศหรือไม่ และมีการดูดทรายนอกระยะเวลา 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นหรือไม่

นอกจากนั้น ยังตรวจสอบเรือที่ใช้ดูดทรายที่ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรวจสอบการขนส่งต้องไม่มีเศษหินและทรายร่วงหล่นตามถนนและไม่สร้างความเสียหายต่อถนนหนทาง

ที่ผ่านมา พบผู้ประกอบการดูดทรายหลายรายยังลักลอบดูดทรายนอกเขตสัมปทาน สาเหตุหลักเพราะต้องการดูดกรวดซึ่งมีราคาสูงกว่าทรายถึง 4 เท่า

มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฉบับเก่าระบุว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตดูดทรายต้องดูดทรายห่างจากชายฝั่งของไทยอย่างน้อย 120 เมตรแต่ห้ามออกจากฝั่งเกิน 160 เมตร แต่หากเป็นกฎหมายฉบับใหม่ อนุญาตให้ดูดทรายนอกชายฝั่งไทยได้ไม่เกิน 200 เมตร

ตามธรรมชาติการดูดกรวดจะต่างจากทรายตรงที่เมื่อดูดทรายขึ้นมาแล้ว ทรายจากบริเวณอื่นจะไหลมาแทนที่ทำให้สามารถดูดทรายบริเวณเดิมได้ตลอดทั้งฤดูกาล ต่างจากกรวดที่จะอยู่กับที่ ดังนั้น เมื่อดูดกรวดในพื้นที่สัมปทานหมดแล้วจะไม่มีกรวดให้ดูดอีก ผู้ประกอบการบางรายจึงลักไก่ด้วยการออกไปดูดกรวดนอกเขตสัมปทาน จนเกิดการกระทบกระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วหลายครั้ง

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ ยังพบการลักลอบดูดทรายบริเวณใกล้เขื่อนป้องกันตลิ่งซึ่งเป็นการกระทำผิดข้อกำหนดทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการดูดทรายตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองที่ระบุว่าห้ามไม่ให้มีการประกอบกิจการท่าทรายในระยะ 1,000 เมตร นับจากจุดที่มีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง โดยที่ผ่านมาอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมมีคำสั่งให้ท่าทรายที่ทำผิดหยุดดำเนินกิจการไปแล้วหลายราย

ล้างไพ่ท่าทรายเถื่อน ลบภาพผู้ร้ายแม่น้ำโขง

ผู้ประกอบการ มองว่า ระเบียบดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการท่าทรายอยู่ในความเสี่ยงเพราะหากมีเขื่อนป้องกันตลิ่งถูกสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตกิจการท่าทรายในแม่น้ำโขงอาจต้องปิดตัวลงทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาทรายภายในประเทศสูงขึ้นจนเกิดผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการท่าทราย พบเป็นประจำทุกปี คือระยะเวลาในการพิจารณาต่อใบอนุญาตของคณะกรรมการพิจารณาอนุญาตให้ดูดทรายที่ต้องใช้เวลานานหลายเดือน ซึ่งแม้จะมีระเบียบที่กำหนดว่าผู้ที่ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตดูดทรายไปแล้ว จะสามารถประกอบกิจการต่อได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต แต่การที่ใบอนุญาตออกล่าช้าก็อาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้

ทุกวันนี้ นอกจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการท่าทรายลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นประจำแล้ว ผู้ประกอบการท่าทรายยังรวมตัวกันเป็นชมรมเพื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกและตรวจสอบกันเองไม่ให้กระทำผิด

ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกิจการท่าทราย ยืนยันว่า ธุรกิจท่าทรายยังเป็นธุรกิจพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ธุรกิจนี้ก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่มีทั้งผู้ที่ทำถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จำเป็นต้องพึ่งกลไกควบคุมดูแลจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง