หลังการลาออกของ กสม. 2 คนล่าสุด "เตือนใจ - อังคณา" ส่งผลให้เหลือ กสม. ปฏิบัติหน้าที่เพียง 3 คน ไม่ครบองค์ประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ โดย ก.ม.เปิดช่องให้แต่งตั้ง กสม.ชั่วคราว แต่สมาคมสิทธิฯ และ ครป. เห็นต่าง
วันนี้ (2 ส.ค. 2562) สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หรือ สสส. ออกแถลงการณ์ "ยุติการแต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดชั่วคราว เร่งสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดถาวรโดยเร็ว"
โดยสาระสำคัญของแถลงการณ์ ระบุ จากกรณีที่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และ นางอังคณา นีละไพจิตร ลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรมัย และ นายชาติชาย สุทธิกลม ลาออกไปก่อนหน้า ทำให้ปัจจุบันเหลือ กสม. ปฏิบัติหน้าเพียง 3 คน ซึ่ง นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. แถลงข่าวว่า จะทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อร่วมแต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่ชั่วคราวให้ครบ 7 คน โดย สสส. เห็นว่า จะเป็นการทำหน้าที่เพียงชั่วคราวในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น และเวลานี้ อยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่ง กสม. อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดจะร่วมกันแต่งตั้งบุคคลมาเป็น กสม. ชั่วคราว

เตือนใจ ดีเทศน์ - อังคณา นีละไพจิตร

วัส ติงสมิตร
ด้วยเหตุผลตามความเห็นดังกล่าว สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีข้อเสนอแนะ 2 ข้อ
- ยุติการแต่งตั้งบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่ กสม. ให้ครบ 7 คน เพื่อให้การสรรหาที่กำลังดำเนินการ เป็นไปตามหลักการปารีส รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม.
- คณะกรรมการสรรหา กสม. ควรสรรหาบุคคลที่เหมาะสม เป็น กสม. โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ ประสบการณ์ และผลงานด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมตระหนักถึงเป้าหมายของการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน


จี้ กสม. ที่เหลือลาออก
ด้าน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. ออกจดหมายเปิดผนึก "วิกฤตการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" ถึงประธาน กสม. ประธานคณะกรรมการสรรหา กสม. และประธานวุฒิสภา ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก เพื่อให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ เนื้อหาแถลงการณ์ ระบุถึงความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและนานาอารยประเทศ เช่น คณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล
โดย ครป. และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
- ให้ประธานและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ยังคงเหลืออยู่ 3 คน ลาออก
- ให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่โดยเร็ว
- ให้ประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกคน รับผิดชอบต่อสังคมและรัฐธรรมนูญ โดยลงมติเลือกผู้เข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีประสบการณ์และบทบาทการทำงานสิทธิมนษยชนอย่างแท้จริงและเป็นที่ประจักษ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม.ขาดอิสระ ปม "อังคณา-เตือนใจ" ลาออก!
กสม.แจงเดือด "ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์" ปมละเมิดสิทธิมนุษยชน