จี้รัฐบาลเร่งสอบเหมืองทอง ยื่น 19 ข้อ ให้ ป.ป.ช. 6 ปียังไม่คืบหน้า

สังคม
3 ส.ค. 62
16:38
696
Logo Thai PBS
จี้รัฐบาลเร่งสอบเหมืองทอง ยื่น 19 ข้อ ให้ ป.ป.ช. 6 ปียังไม่คืบหน้า
ประชาชนรวมตัว ค้าน ป.ป.ช.สอบเหมืองทอง 6 ปี ไม่คืบหน้า จี้นายกฯ ขอตั้งกรรมการชุดเฉพาะ เร่งตรวจสอบ 19 ประเด็น หวั่นรัฐบาลส่อเสียค่าโง่ ถ้าไม่ตรวจสอบปมร้องเรียนทุจริต - ประกอบกิจการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (3 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากชาวบ้านเข้าพบ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อติดตามทวงถามคดีที่เคยยื่นให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบรวม 19 ประเด็น เกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำ แต่ไม่ได้คำตอบหรือความคืบหน้าการสอบสวนที่ชัดเจน ล่าสุด ช่วงเช้าวันนี้ กลุ่มชาวบ้าน 5 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, ลพบุรี และ สระบุรี รวมถึง เครือข่ายภาคประชาสังคม ปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นัดรวมตัวกันเดินไปตามถนนหมู่บ้าน ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เพื่อคัดค้านการทำหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)


นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ แกนนำชาวบ้าน เปิดเผยว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านยื่นให้ตรวจสอบรวม 19 ประเด็น เกี่ยวข้องก้บการให้ตรวจสอบบุคคลทั้งระดับนักการเมือง อดีตรัฐมนตรี และข้าราชการ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส และการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยครั้งล่าสุด น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีเหมืองแร่ทองคำ ระบุสั้นๆ ว่า อยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งความล่าช้า

การใช้ระยะเวลา 6 ปี ที่ยื่นร้องเรียน กลุ่มชาวบ้านเห็นว่า การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ใช้เวลานานเกินไป และไม่มีความชัดเจน ซึ่งวันที่ 6 ส.ค.นี้ กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาสังคมจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ให้ตั้งกรรมการชุดเฉพาะกิจชุดใหม่ตรวจสอบ ขอให้มีบุคคลที่เชี่ยวชาญ เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบร่วม และเสนอให้ประเด็นการสอบคดีเหมืองแร่ทองคำเป็นวาระแห่งชาติ เพราะขณะนี้ รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการมีข้อพิพาทกับบริษัทเหมืองแร่ทองคำในชั้นอนุญาโตตุลาการ และหากรัฐบาลไม่มีข้อมูลการสอบสวนที่ชัดเจนเกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ชัดเจน ก็อาจทำประเทศไทยเสี่ยงเสียค่าโง่เหมืองทองคำได้ หากเกิดการฟ้องร้องเรียกมูลค่าเสียหายหลังจากนี้

 

น.ส.อารมณ์ คำจริง แกนนำชาวบ้าน ระบุว่า หนึ่งในประเด็นที่เคยยื่นให้ตรวจสอบ คือ การย้ายบ่อกักเก็บกากแร่ และการทำเหมืองแร่รุกล้ำถนนทางหลวง แต่จนถึงขณะนี้ ก็ไม่มีความชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการย้ายเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ชุดสอบสวน และพอเริ่มตั้งชุดใหม่ เมื่อ 2 ปีก่อน ก็ไม่มีความคืบหน้า คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา ที่มี ทั้ง ป.ป.ช., ป.ป.ง., ดีเอสไอ เพราะ 6 ปีที่ผ่านมา การเรียกร้องของประชาชนยาวนานเกินไป เราไม่มีทางเลือกแล้วว่า การรอคอยที่เนิ่นนานขนาดนี้ แล้วเมื่อไหร่จะถึงจุดจบได้ความชัดเจน

 
สำหรับข้อร้องเรียนที่กลุ่มชาวบ้านและภาคประชาสังคมปฏิรูปทองคำ เคยยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ 19 ประเด็น คือ

1.อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ กับบริษัทสวนสักพัฒนา จำกัด ที่มีบริษัท อัครา รีซอร์สเซส เป็นผู้ถือหุ้น โดยบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทอัคราฯ
2.การอนุมัติให้ทำเหมืองในทางสาธารณะโดยมิชอบ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการซื้อที่ดินของญาตินายก อบต. และคดีสินบนข้ามชาติหรือไม่อย่างไร
3.การเปลี่ยนแปลงผังโครงการเพื่อย้ายบ่อเก็บกากแร่ไปใกล้กับชุมชนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และอาจเกี่ยวข้องกับคดีสินบนข้ามชาติหรือไม่อย่างไร
4.การขยายโรงงานประกอบโลหะกรรม โดยมิชอบและอาจเกี่ยวข้องกับคดีสินบนข้ามชาติหรือไม่อย่างไร
5.มีการจ่ายเงินเพื่อการอนุมัติประทานบัตรในปี 2551 หรือไม่
6.การทำเหมืองนอกเขตประทานบัตรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
7.การออกโฉนดในการแปลงทรัพย์สินเป็นทุนให้บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด และชื่อบุคคลอื่นถือครองแทน บริษัทสวนสักพัฒนา โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร
8.การยกเลิกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยมิชอบที่ จ.ลพบุรี
9.ยกเลิกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ของชาวบ้าน ต.คลองทราย อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร
10.การไม่ออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก โดยอ้างว่า ไม่ใช่พื้นที่ป่าสงวนหวงห้าม
11.กรมควบคุมมลพิษเตือนห้ามใช้น้ำหนองระมาน บ่อน้ำดื่ม และน้ำใต้ดินในบริเวณหนองระมาน
12.น้ำผุดกลางนาข้าวบริเวณข้างบ่อเก็บกากแร่ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตรวจพบสารไซยาไนต์ ที่มีอัตตลักษณ์คล้ายกับไซยาไนท์ในบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ที่ใช้เพียงดินเหนียวรองก้นบ่อเท่านั้น
13.การปล่อยน้ำในบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ออกมานอกบ่อทางด้านทิศใต้ของบ่อ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
14.ผลตรวจของกรรมการ 5 ฝ่าย, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมและร่างกายคน
15.ประเด็นการเจ็บป่วยล้มตายของชาวบ้านรอบเหมืองทอง
16.การขุดสินแร่ที่มีสารหนูและสารโลหะหนัก และใช้สารไซยาไนต์เข้าใช้ในการผลิต อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยของประชาชนรอบเหมืองหรือไม่อย่างไร
17.การเพิกถอนพื้นที่ปฏิรูปที่ดินใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมิชอบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฟ้าร้อง จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท คิงส์เกต ได้ยื่นอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้ โดยแอบอ้างคำสั่งทวงคืนผืนป่าของ คสช.
18.การใช้อำนาจหน้าที่ของ นายก อบต. รื้อป้ายคัดค้านการสำรวจเพื่อทำเหมืองแร่ใน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมิชอบ
19.การห้ามประชาชนคัดค้านการทำเหมืองแร่โดยมิชอบหรือไม่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรรมการ ป.ป.ช.ไม่ตอบ คดีเหมืองทอง สอบ 4 ปี ไม่คืบหน้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง