เตรียมลงนาม RCEP ปี 2020

เศรษฐกิจ
4 ส.ค. 62
11:48
698
Logo Thai PBS
เตรียมลงนาม RCEP ปี 2020
16 ประเทศยืนยันพร้อมเดินหน้าการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ปให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้เพื่อขยายตลาดการค้าและบริการร่วมกัน

ภายหลังเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างอาเซียน และ 6 ประเทศคู่เจรจาคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงผลการประชุมว่า รัฐมนตรีทั้ง 16 ประเทศ ได้ตัดสินใจในระดับนโยบาย 3 - 4 เรื่องที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ คือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเปิดตลาดด้านการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน ทำให้ระดับเจ้าหน้าที่ สามารถนำเอาการตัดสินใจในระดับนโยบายไปดำเนินการเจรจาเพื่อให้เกิดความคืบหน้าต่อไปได้

โดยทุกประเทศยืนยันที่จะร่วมผลักดันให้การเจรจาจบได้สิ้นปีนี้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดตลาดการค้าและบริการขนาดใหญ่ และยืนยันไทยได้ประโยชน์

หลังการประชุมที่ปักกิ่งแล้วจะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่หรือการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำ RCEP และระดับรัฐมนตรี รวม 4 ครั้ง ก่อนที่จะสรุปผลการเจรจา และหลังจากนั้นจะเป็นกำหนดเงื่อนเวลาลงนามระหว่าง 16 ประเทศได้ ที่ประชุมสรุปที่จะให้มีการลงนามโดยเร็วที่สุดคือในปี 2020

 

 

จากนั้นสมาชิกจะต้องดำเนินการภายในประเทศเพื่อให้สัตยาบันซึ่งในขั้นตอนนี้น่าจะใช้เวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี เมื่อสมาชิกให้สัตยาบันแล้ว ความตกลงจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ และทุกประเทศจะได้รับประโยชน์ตามสิทธิพิเศษที่ตกลงกันไว้

ทั้งนี้ หากความตกลงมีผลบังคับใช้ สินค้าไทยหลายรายการจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า, พลาสติกและเคมีภัณฑ์, ยานยนต์และชิ้นส่วน, ยางล้อ, เส้นใย, สิ่งทอ, เครื่องแต่งกาย, ผลิตภัณฑ์แป้งมันสัมปะหลัง และกระดาษ รวมถึงส่งเสริมให้การออกกฎระเบียบ และมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่ย ก่อสร้าง, ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ, ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง อย่างเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง, การผลิตแอนนิเมชั่น

 

 

อีกทั้งยังทำให้ไทยเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่มีความต้องการ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S curve เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ การศึกษา การซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น

นายจุรินทร์ ระบุด้วยว่า ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ไทยยังได้หารือ 2 ฝ่ายกับอินเดีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ ซึ่งรัฐมนตรีแต่ละประเทศต่างเน้นย้ำถึงเป้าหมายการเจรจา และพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนไทยในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนนตรี RCEP ผลักดันการเจรจาให้สำเร็จในปีนี้ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ให้ได้เร็วที่สุด รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อการสร้างบรรยากาศการค้าโลก

 

 

รองศาสตราจารย์อัทธ์ พิศาลวานิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลรอบคอบในการเจรจาเปิดตลาดการค้าและบริการเพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบ

การทำข้อตกลงต่างๆ มันมีทั้งได้และเสียประโยชน์ อย่างเช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ กับบางประเทศ ที่พบว่าไทยเสียดุลการค้า ดังนั้นรอบนี้ระมัดระวังให้มาก

สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป มีความพยายามที่จะผลักดันมาแล้วประมาณ 7 ปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากบางประเทศไม่ต้องการเปิดตลาดสินค้าและบริการเพราะอาจกระทบกับเกษตรกร หรือ ธุรกิจในประเทศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง