ผบ.ทบ.ไม่ชี้ชัดมือระเบิด ยอมรับคดีซับซ้อน-อาจตัดตอน

การเมือง
6 ส.ค. 62
09:41
234
Logo Thai PBS
ผบ.ทบ.ไม่ชี้ชัดมือระเบิด ยอมรับคดีซับซ้อน-อาจตัดตอน
ผบ.ทบ.เชื่อมั่นขีดความสามารถเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการติดตามผู้ก่อเหตุระเบิดใน กทม.พร้อมย้ำว่ากลุ่มก่อเหตุน่าจะอยู่ในวงจรผู้มีแนวความคิดก่อความไม่สงบทุกรูปแบบ รวมทั้งอาจอยู่ในโลกออนไลน์

วันนี้ (6 ส.ค.2562) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ระบุถึงความคืบหน้าเหตุวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพมหานครว่า ความสับสนช่วงที่ผ่านมามีส่วนมาจากการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย โดยไม่ใช่ข่าวที่มาจากทางตำรวจโดยตรง เป็นการคิดหรือมโนขึ้นมาเอง ทำให้เกิดเฟคนิวส์ ซึ่งปัจจุบันมีอิทธิพลมาก แต่ไม่ได้โทษสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงที่มาที่ไปต่างๆ ของเหตุการณ์แล้ว และต้องให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานติดตามสอบสวน ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจถือว่าเป็นหน่วยงานหลัก เนื่องจากไม่มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กกล.รส.แล้ว ทหารจึงรับผิดชอบเฉพาะในเรื่องความมั่นคง ในกรอบงาน กอ.รมน.ตามปกติ

ซึ่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่ดูแลด้านความมั่นคงตำรวจทหารก็ได้สั่งการไว้หมดแล้ว โดยกำหนดการที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กองทัพบกก็ต้องเตรียมการวางกำลังต่างๆ โดยขณะนี้กองทัพภาคที่ 4 มีการปรับการทำงานในพื้นที่

ผู้บัญชาการทหารบก ย้ำว่า ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการสอดส่องเหตุระเบิด ภายใต้หลักการเนเบอร์ วอช (Neighbor watch) หรือ ประชาชนที่ทำหน้าเหมือนเพื่อนบ้าน ที่จะต้องเป็นหูเป็นตา เพราะประเทศไทยเปรียบเหมือนบ้าน ดังนั้นหากพบวัตถุต้องสงสัยจะต้องช่วยกันแจ้งเจ้าหน้าที่ เพราะประชาชนมีส่วนสำคัญนอกเหนือจากกล้องวงจรปิด

รวมทั้งต้องร่วมกันดูแล ไม่ใช่การจัดทำข่าวต่างๆ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นหรือโยงประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกำลังเดินหน้าทำงานไปด้วยดี มีการเลือกตั้งแล้วและเพิ่งเริ่มทำงานไม่นานก็เกิดเหตุระเบิดขึ้น พร้อมทั้งขอฝากไปยังสื่อมวลชนในการตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ยิ่งทำให้เกิดความแตกแยก หรือนำไปตีความต่างๆ

ทั้งนี้ ขอให้ติดตามข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก เพื่อจะได้ข่าวสารที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็มีการตั้งศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์ขึ้นแล้ว ซึ่งหลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีกลไกต่อต้านเฟคนิวส์และประชาชนก็ต้องระมัดระวังการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสาร โดยต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรม และใช้วิจารณญาณ

 

ผู้บัญชาการทหารบก ตั้งข้อสังเกตว่าการก่อเหตุระเบิดในช่วงวันที่ 1-2 สิงหาคม เพื่อหวังให้กระทบต่อการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งความพยายามก่อความวุ่นวายลักษณะนี้ เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติที่สำคัญ อย่างการประชุมอาเซียนที่พัทยา

โดยมีวัตถุประสงค์ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล จากการกระทำของผู้ไม่หวังดี แต่ไม่ขอชี้ชัดว่าเป็นกลุ่มใด เพราะคนที่ดีคงไม่ทำและเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะสร้างสถานการณ์มาทำร้ายตัวเอง เพราะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี มีเรื่องที่จะต้องแก้ไขเพื่อประเทศชาติอีกหลายด้าน เพื่อนำพาประเทศชาติก้าวหน้าต่อไป รวมไปถึงการดูแลรัฐมนตรีที่มาจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งเรื่องทางการเมืองไม่เกี่ยวกับทหาร เพราะปัจจุบันทหารดูแลเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก

พร้อมกันนี้ ยังชี้แจงกรณีที่เคยตั้งข้อสังเกตถึงกลุ่มก่อเหตุระเบิดที่น่าจะเป็นกลุ่มเดิมว่า จากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นต้องอาศัยหลักกลยุทธ์หรือยุทธวิธี โดยมีการวางแผน ซึ่งต้องมีผู้วางแผนและผู้ปฏิบัติ รวมไปถึงการนำของไปก่อเหตุ ทั้งหมดนี้ต้องผ่านกระบวนการคิด ซึ่งส่วนใหญ่จะสืบหาตัวคนที่คิดวางแผนได้ยาก และได้แต่คาดเดา โดยใช้เวลาติดตามสอบสวน หาหลักฐาน ทั้งนี้ มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี และตอบสนองนายกรัฐมนตรีได้

โดยกองทัพบกมีหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสารที่เคยรวบรวมไว้ ซึ่งกลุ่มเดิมๆ ที่หมายถึงคือ กลุ่มมาสเตอร์มายด์ (mastermind) หรือกลุ่มที่คิดวางแผนก่อเหตุต่างๆ โดยเป็นกลุ่มที่มีแนวความคิดก่อความไม่สงบในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิด หรือการทำเฟคนิวส์ ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายประเทศ

แต่ไม่สามารถระบุลงไปได้ว่ากลุ่มมาสเตอร์มายด์คือฝ่ายใดบ้าง เพราะพูดตามหลักการในฐานะฝ่ายความมั่นคง ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง ซึ่งหากประเทศยังมีกลุ่มมาสเตอร์มายด์ที่ไม่เคารพกฎกติกา ประเทศก็จะเดินหน้าไปไม่ได้ ดังนั้นจึงขอให้เล่นการเมืองตามระบบสภา ซึ่งกลุ่มแนวคิดมาสเตอร์มายด์ อาจจะอยู่ทุกหนแห่งทั่วโลก รวมไปถึงโลกออนไลน์

 

ผู้บัญชาการทหารบก ยอมรับว่าการติดตามเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ต้องอาศัยเวลา เพราะอาจมีการตัดตอน หรือมีขบวนการที่ลึกลับซับซ้อน รวมทั้งอาศัยเทคโนโลยีช่วยในการก่อเหตุ แต่ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ใช้เทคโนโลยีติดตามสอบสวน เพื่อเข้าถึงผู้บงการได้ง่ายด้วยเช่นเดียวกัน รวมไปถึงการบูรณาการกล้องวงจรปิด และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพบูรณาการในด้านความมั่นคงมากขึ้น เพราะแต่ละหน่วยงานรวมถึงภาคเอกชนและร้านค้าต่างๆ ก็มีกล้องวงจรปิดใช้งานอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมมีภูมิลำเนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ขอให้ไปถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง