ตื่นแจ้งเหตุวัตถุต้องสงสัย

อาชญากรรม
6 ส.ค. 62
10:41
333
Logo Thai PBS
ตื่นแจ้งเหตุวัตถุต้องสงสัย
ประชาชนตื่นตัวแจ้งเบาะแสวัตถุต้องสงสัยกว่า 10 ครั้งต่อวัน หลังเกิดเหตุระเบิด แต่ไม่พบวัตถุอันตราย

วันนี้ (6 ส.ค.2562) พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เปิดเผยภายหลังจากมีเหตุระเบิด 10 จุด ในพื้นที่ กทม. และ จ.นนทบุรี ว่า ประชาชนตื่นตัว มีผู้แจ้งเบาะแสเกินวันละ 10 คน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์ หลังเกิดเหตุ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (EOD) ยืนยันความพร้อมเข้าตรวจสอบเหตุที่มีการรับแจ้งในทุกจุดตลอด 24 ชั่วโมง และผลจากการเข้าตรวจทุกจุด และตามรายงานยังไม่พบว่ามีจุดใดพบวัตถุอันตรายหรือระเบิด ที่ใกล้เคียงก็เป็นเพียงวัตถุเลียนแบบ หรือวัตถุใกล้เคียงวัตถุอันตราย ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นของกลุ่มวัยรุ่นที่นำไปใช้ก่อเหตุทะเลาะวิวาท แต่ไม่ถึงขั้นนำไปสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายแต่อย่างใด หากประชาชนพบเห็นหรือต้องการขอความช่วยเหลือสามารถโทรแจ้งได้ที่หมายเลข 199 ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนความคืบหน้าการสืบสวนติดตามคดีระเบิด มีรายงานข่าวว่า การออกหมายจับนั้น ยังไม่สามารถออกได้ทันที ต้องรอผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันตัวตนให้ชัดเจนก่อน จากนั้นจะนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในข่ายเฝ้าระวังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากแนวทางการสืบสวนพบว่าผู้ก่อเหตุไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทั้งหมด แต่มีบางส่วนเป็นผู้ก่อความไม่สงบในบัญชีเฝ้าระวังรวมอยู่ด้วย เมื่อได้หลักฐานต่างๆ ครบแล้ว จึงจะไปขอศาลอนุมัติหมายจับ เชื่อว่าอีก 2-3 วันนี้ เรื่องต่างๆ จะมีความชัดเจนขึ้น

 

 

พ.ต.อ.กำธร กล่าวว่า แนวทางการสืบสวนในระยะนี้ จะเน้นไปที่การรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ของนายลูไซ แซแง และนายวิลดัน มาหะ ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมได้ เช่น เสื้อผ้าสวมที่สวมใส่และใช้เปลี่ยนเพื่ออำพรางตัวเอง และพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง มาประกอบสำนวนการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ตามอำนาจในการควบคุมตัว ซึ่งแนวทางการดำเนินคดีสามารถชี้แจงได้ว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คน เริ่มต้นเข้ามาก่อเหตุอย่างไร และเพราะเหตุใดตำรวจจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ก่อเหตุ รวมถึงบุคคลต่างๆ ที่้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ให้การช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม

ส่วนความคืบหน้าการขยายผลผู้ร่วมก่อเหตุในขบวนการนี้ ตำรวจพบข้อมูลทั้งผู้ต้องหาที่ลงมือก่อเหตุ ผู้ให้การสนับสนุน ไปจนถึงกลุ่มนายทุนในต่างประเทศ มีคนที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20 คน ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะต้องนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงที่ทำงานในพื้นที่ภาคใต้ด้วยว่า มีบุคคลใดถูกจับกุมได้ หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ หรือไม่ เนื่องจากเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 2 พื้นที่ มีความเชื่อมโยงกัน โดยข้อมูลดังกล่าว ยังสอดคล้องกับข้อมูลการเดินทางเข้าและออกประเทศผ่านด่านใน จ.นราธิวาส ของนายลูไซและนายวิลดัน ก่อนหน้าที่จะไปลงมือก่อเหตุด้วย

สำหรับเป้าหมายในการลงมือก่อเหตุในครั้งนี้ ฝ่ายสืบสวนยังไม่ตัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งทิ้ง อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นไปได้ที่แรงจูงใจในการลงมือจะเกิดจากความแค้นและอุดมการณ์ เพราะหากต้องการแก้แค้นแทนผู้เสียชีวิตเพียงอย่างเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องวางแผนอย่างละเอียด เพื่อสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ และใช้งบประมาณลงทุน ซึ่งวัตถุประสงค์หลักมองว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง