เปิดปม : ดีเอ็นเอ-ซิมการ์ด ปฏิบัติการทางสองแพร่ง

สังคม
6 ส.ค. 62
15:15
744
Logo Thai PBS
เปิดปม : ดีเอ็นเอ-ซิมการ์ด ปฏิบัติการทางสองแพร่ง
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ถูกเก็บดีเอ็นเอด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นและเก็บดีเอ็นเอ ชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา กลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กำลังเป็นเรื่องอ่อนไหวและถูกจับตาอยู่ในขณะนี้

ใบยินยอมให้เก็บ DNA สภาวะที่ปฏิเสธไม่ได้แม้มีสิทธิ

วันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าปิดล้อมสองหมู่บ้านใน ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เนื่องจากมีข้อมูลความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่

ช่วงเช้ามืดของวันตรวจค้น พบว่ามีชาวบ้านจำนวน 70 หลังคาเรือนถูกตรวจค้น และ ชาวบ้านจำนวน 60 คน ถูกเก็บดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรม ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นหญิง 19 คน และชาย 41 คน

 

ในเวลาต่อมา ชาวบ้านเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำลายและลบฐานข้อมูลดีเอ็นเอที่เก็บไปในเช้าวันนั้นทั้งหมด เนื่องจากเป็นการเก็บดีเอ็นเอนสภาวะที่ชาวบ้านอ้างว่าไม่เอื้อให้เกิดการปฏิเสธ หรือ ไม่ได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าชาวบ้านลงนามในใบยินยอมให้เก็บดีเอ็นเอด้วยตนเอง

ตัวอย่างดีเอ็นเอสามารถใช้พิสูจน์ตัวบุคคลได้เป็นอย่างดี เป็นข้อมูลไบโอเมตริกที่มีลักษณะเฉพาะตัวบุคคลและมีโอกาสซ้ำกับบุคคลอื่นได้ยาก รวมถึงเปลี่ยนแปลงแทบไม่ได้ เช่นเดียวกับลายพิมพ์นิ้วมือ และภาพม่านตา  ในทางนิติวิทยาศาสตร์ สามารถใช้ดีเอ็นเอพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล พิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูก หรือค้นหาครอบครัวของคนและศพนิรนาม หากมีตัวอย่างดีเอ็นเอที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
ดีเอ็นเอที่พบในหลักฐานหรือที่เกิดเหตุ ยังสามารถทำให้เจ้าหน้าที่สืบหาผู้ต้องสงสัย หรือผู้กระทำความผิดได้ในเวลาต่อมา

 

นายอับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ให้ข้อมูลว่ามีเพียงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1ที่ระบุว่า กรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ เช่น การเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ หรือ สารพันธุกรรม เป็นต้น โดยผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม ถึงแม้ว่า ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีความไม่ให้ความยินยอม ก็ไม่สามารถตีความได้ว่าบุคคลนั้นไม่บริสุทธิ์ใจหรือมีความผิด

สำหรับประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีความใดๆ ไม่มีกฎหมายฉบับใดระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเก็บดีเอ็นเอไปตรวจได้ ยกเว้นแต่ว่าได้รับความยินยอม ทำให้ทุกครั้งที่มีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องให้ประชาชนเซ็นใบยินยอมให้เก็บดีเอ็นเอ คำถามคือการลงนามยินยอมในเอกสารนั้น เกิดขึ้นในสภาวะที่เจ้าตัวยินยอมจริงๆ หรือไม่  

ศพฐ.10 ยืนยัน DNA ส่งตรวจปลอดภัย ใช้ใส่ร้ายใครไม่ได้

ดีเอ็นเอทั้งหมดที่ถูกเก็บได้จาก ต.บ้านแหร ถูกส่งมายังศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 (ศพฐ.10) จ.ยะลา ซึ่งเป็นศูนย์นิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้ ศพฐ.10 จึงเป็นปลายทางของวัตถุพยานทั้งหมดที่มาจากหน่วยงานต่างๆ ถึงแม้ว่าในการปิดล้อมตรวจค้น หรือเก็บวัตถุพยานใดๆ ในที่เกิดเหตุ อาจไม่ใช่เจ้าหน้าที่จาก ศพฐ.10 โดยตรงก็ตาม

พล.ต.ต.พิษณุ ฟูปลื้ม ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ปฏิเสธให้ความเห็นหรือข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจเก็บดีเอ็นเอในปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้น ต.บ้านแหรที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นการร่วมสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายหน่วยงาน และ ศพฐ.10 ไม่ได้เป็นหน่วยงานหลักในปฏิบัติการนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทาง ศพฐ.10 ให้ความมั่นใจได้คือดีเอ็นเอทั้งหมดที่ถูกส่งมายังห้องปฏิบัติการของ ศพฐ.10 จะไม่มีทางเล็ดรอดไปยังแหล่งอื่นๆ ได้เลย

ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ให้ข้อมูลว่า กล่องบรรจุก้านสำลีที่มีดีเอ็นเอต้องอยู่ในสภาพปิดสนิท ไม่มีร่องรอยการเปิดหรือฉีกบรรจุภัณฑ์ออกจากกัน และลายเซ็นบนกล่องต้องตรงกับใบยินยอมให้เก็บดีเอ็นเอ ไม่เช่นนั้นจะไม่ยอมตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอให้กับดีเอ็นเอที่มีปัญหาใดๆ และส่งคืนหลักฐานนั้นกลับไปยังต้นทาง

 

ดีเอ็นเอที่ถูกส่งมายังห้องปฏิบัติการจะระบุหมายเลขเฉพาะในระบบ ทำให้เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญที่สกัดและวิเคราะห์ดีเอ็นเอภายในห้องแล็บไม่สามารถทราบได้ว่า ดีเอ็นเอที่กำลังตรวจวิเคราะห์อยู่นั้นเป็นของใคร เพราะข้อมูลดังกล่าวจะถูกปกปิดเป็นความลับ

เมื่อส่งผลการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอเข้าสู่ระบบของ ศพฐ.10 จะปรากฎเพียงรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอควบคู่กับรายชื่อของเจ้าของดีเอ็นเอเท่านั้น โดยระบบฐานข้อมูลนี้มีเพียงเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนที่เข้าถึงได้และอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของ ศพฐ.10 เท่านั้น

สำหรับก้านสำลีที่ถูกสกัดสารดีเอ็นเอก็ไม่สามารถเล็ดรอดไปยังวัตถุพยานหลักฐานหรือที่เกิดเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะไม่เหลือสารดีเอ็นเออยู่ในสำลี  ที่สำคัญก้านสำลีทั้งหมดจะถูกทำลายที่เตาเผาขยะอันตรายหรือขยะติดเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย จึงขอให้มั่นใจได้ว่าไม่มีทางที่ดีเอ็นเอจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง