เรียกคืนเต้านมเทียมซิลิโคน "นาเทรล" เสี่ยงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

สังคม
6 ส.ค. 62
19:27
3,783
Logo Thai PBS
เรียกคืนเต้านมเทียมซิลิโคน "นาเทรล" เสี่ยงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
อย.แจ้งว่ามีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์เต้านมเทียมซิลิโคนหลายรุ่น มีชื่อทางการค้า นาเทรล (NATRELLE) ที่ยังไม่ได้ฝังในร่างกาย เนื่องจากพบความเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แนะผู้รับการศัลยกรรมติดตามความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หากมีความผิดปกติให้พบแพทย์ทันที

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย.ได้รับข้อมูลจากบริษัท แอลเลอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท นีโอฟาร์ม จำกัด แจ้งขอเรียกคืนผลิตภัณฑ์เต้านมเทียมซิลิโคนชนิดผิวขรุขระ (BIOCELL®) ชื่อทางการค้า นาเทรล (NATRELLE) โดยสมัครใจในทุกรุ่นการผลิตที่ยังไม่ได้ฝังในร่างกาย เนื่องจากพบความเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สัมพันธ์กับการเสริมเต้านมเทียม ที่อาจจะนำไปสู่การเสียชีวิต

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผลิตโดย Allergan Costa Rica S.R.L ประเทศคอสตาริกา และเจ้าของผลิตภัณฑ์คือ Allergan Plc สหรัฐอเมริกา โดยผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืนของบริษัท แอลเลอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด ได้แก่

1. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่นเอสที-410 เอ็มเอฟ เลขที่ใบรับแจ้งรายการละเอียด จน. 5/2560
2. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น 120 เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 36/2561
3. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น เอสที-410 เอ็มเอ็ม เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 4/2562

ส่วนของบริษัท นีโอฟาร์ม จำกัด ผลิตภัณฑ์ที่เรียกคืน ได้แก่

1. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น 110 เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 79/2553
2. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น 120 เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 106/2553
3. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น ST-410 MF เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 2/2554
4. เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย นาเทรล รุ่น ST-410 MM เลขที่ใบรับแจ้งฯ จน. 3/2554

ทั้งนี้ ไม่รวมผลิตภัณฑ์เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย ชนิดผิวขรุขระ (MICROCELL®) ชื่อทางการค้า CUI MHP และ CUI MLP และผลิตภัณฑ์เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย ชนิดผิวเรียบ (Smooth) ชื่อทางการค้า CUI SLD และ CUI SHD ซึ่ง อย.จะเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เต้านมทุกประเภทอย่างเข้มงวด พร้อมขอให้แพทย์ที่พบความผิดปกติจากการใช้ผลิตภัณฑ์เต้านมเทียม สามารถแจ้งหรือรายงานเข้ามาได้ที่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย.

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง BIA-ALCL พบน้อย แต่ร้ายแรง

ขณะที่ รศ.นพ.ศิรชัย จินดารักษ์ นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า BIA-ALCL เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin's lymphoma ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เต้านมเทียมฝังในร่างกายที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วไปที่พบเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่มะเร็งเต้านมที่เกิดจากเนื้อเยื่อของเต้านม แม้ว่า BIA-ALCL เป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์การเกิดต่ำ แต่อาจร้ายแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี มีโอกาสหายขาดได้ด้วยการผ่าตัดโดยไม่ต้องใช้ยาเคมีบำบัด

ด้านศาสตราจารย์คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนการทำศัลยกรรมเต้านม ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ วัสดุที่ใช้ บริษัทผู้ผลิต รุ่นการผลิต รวมทั้งเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด

สำหรับผู้ที่ศัลยกรรมแล้ว ควรตรวจสอบว่าตนเองฝังเต้านมเทียมที่เรียกคืนนี้หรือไม่ พร้อมทั้งควรติดตามการเปลี่ยนแปลงบริเวณรอบเต้านมเทียมของตนเอง รวมทั้งบริเวณรักแร้จนถึงกระดูกไหปลาร้าอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติ เช่น เจ็บ บวม เต้านมขยายขึ้นอย่างผิดปกติ ให้ปรึกษาแพทย์ทันที และไม่แนะนำให้นำเต้านมเทียมออก หากไม่พบอาการผิดปกติใดๆ

คำแนะนำสำหรับบุคลากรการแพทย์

  • หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทันทีและส่งคืนผลิตภัณฑ์ให้บริษัทฯ ดำเนินการต่อไป
  • ไม่แนะนำให้นำเต้านมเทียมซิลิโคนออกในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับ BIA-ALCL เช่น อาการปวด บวมเต้านมขยายขึ้นอย่างผิดปกติ หรือตรวจพบ seroma บริเวณรอบๆ เต้านม เป็นต้น และแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว
  • ก่อนการทำศัลยกรรมเต้านม ควรให้หรือจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะใช้แก่ผู้ป่วย เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ วัสดุที่ใช้ บริษัทผู้ผลิต รุ่นการผลิต เปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด รวมทั้งให้ข้อมูลความเสี่ยงในการเกิด BIA-ALCL และแนะนำการสังเกตอาการผิดปกติให้ผู้ป่วยทราบ
  • ควรแนะนำผู้ป่วยให้มารับการตรวจติดตาม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • จำเป็นต้องติดตามอุบัติการณ์การเกิด BIA-ALCL อย่างใกล้ชิด
  • หากพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรือความผิดปกติจากการใช้ผลิตภัณฑ์เต้านมเทียม ให้แจ้งหรือรายงานไปที่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย.

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  • ก่อนทำศัลยกรรมเต้านม ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ วัสดุที่ใช้ บริษัทผู้ผลิต รุ่นการผลิต รวมทั้งเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด
  • ควรตรวจสอบว่าตนเองฝังเต้านมเทียมในชื่อการค้าของบริษัทฯ ที่เรียกคืนหรือไม่ หากไม่ทราบว่าตนเองใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบหรือไม่ ควรขอข้อมูลจากสถานพยาบาล หรือคลินิกที่ได้รับการฝังเต้านมเทียม
  • ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงบริเวณรอบเต้านมเทียมของตนเอง รวมทั้งบริเวณรักแร้จนถึงกระดูกไหปลาร้าอย่างสม่ำเสมอ หากพบความผิดปกติ เช่น เจ็บ บวม เต้านมขยายขึ้นอย่างผิดปกติ ให้ปรึกษาแพทย์ทันที
  • เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยถูกวินิจฉัย BIA-ALCL หลังจากได้รับการฝังเต้านมเทียมแล้วเฉลี่ย 8 ปี (ตั้งแต่ 2-28 ปี) ดังนั้นผู้ป่วยควรรับการตรวจติดตามผลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบและพบความความผิดปกติ ไม่แนะนำให้นำเต้านมเทียมออก หากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ทั้งนี้หากมีความกังวลควรปรึกษาแพทย์ (การรับผิดชอบค่าใช้จ่าย)
  • หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบ ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงบริเวณรอบเต้านมเทียมของตนเอง หากพบความผิดปกติตามคำแนะนำข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์ทันที และไม่แนะนำให้นำเต้านมเทียมออก หากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ทั้งนี้หากมีความกังวลควรปรึกษาแพทย์ (การรับผิดชอบค่าใช้จ่าย)
  • หากไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบ ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงบริเวณรอบเต้านมเทียมของตนเองตามคำแนะนำข้างต้น เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาพบอุบัติการณ์การเกิด BIA-ALCL ได้เช่นกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง