นักวิชาการ ชี้ "อีอีซี" คือกระดุม 5 เม็ดที่ติดผิดพลาด

สิ่งแวดล้อม
6 ส.ค. 62
22:02
1,680
Logo Thai PBS
นักวิชาการ ชี้ "อีอีซี" คือกระดุม 5 เม็ดที่ติดผิดพลาด
”โอฬาร ถิ่นบางเตียว” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ม.บูรพา ชี้ การเดินหน้าอีอีซี คือกระดุม 5 เม็ดที่รัฐบาลติดผิดพลาด ระบุ ที่ผ่านถูกกดทับ ปิดกั้น ด้วย ม.44 แนะรัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนด้วยกระบวนการประชาธิปไตย


วันนี้ (6 ส.ค.2562) ผู้ช่วยศาสตราจารย์โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Olarn Thinbangtieo ต่อกรณีความผิดพลาดของรัฐบาล คสช. ถึง รัฐบาลปัจจุบัน ในการเดินหน้า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ระบุ หากไม่พิจารณาความผิดพลาดทั้ง 5 ประการ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงหลังจากนี้ เปรียบเหมือนกระดุม 5 เม็ด ที่ติดผิดพลาด

 

ชี้ รัฐติดกระดุม "อีอีซี" ผิดพลาด

กระดุม 5 เม็ดที่ติดผิดพลาดในการผลักดัน EEC ของรัฐบาล คสช. ถึง รัฐบาลปัจจุบัน ถ้าไม่พิจารณาความผิดพลาดทั้ง 5 ประการในการขับเคลื่อนโครงการ EEC ระยะยาวโอกาสนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นหลังจากนี้ระหว่าง รัฐบาล และ ชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่น

1. สิทธิชุมชนอันเป็นสิทธิพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีส่วนกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น วิถีชีวิต อัตลักษณ์ ระบบนิเวศ วัฒนธรรมท้องถิ่น การประกอบอาชีพ สัมพันธภาพในชุมชน ฯลฯ สิทธิชุมชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเคารพและต้องให้เกียรติชุมชนท้องถิ่นเป็นหลักการสำคัญที่เพิกเฉยไม่ได้

2. ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐ ทุน และ ชาวบ้าน เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ รัฐบาลต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ไว้เนื้อเชื่อใจต่อชาวบ้านให้ได้ ต้องมีความจริงใจ มีสัจจะต่อกัน รัฐต้องไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านชุมชนท้องถิ่น หรือ อาศัยกลไกราชการ ผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น กดดันสร้างความหวาดระแวง ความรุนแรง ความหวาดกลัวต่อชาวบ้านในท้องถิ่น หรือสร้างวาทกรรมที่นำไปสู่ความเกลียดชัง แบ่งฝักฝ่ายในชุมชนท้องถิ่น จนนำไปสู่วิกฤตความไว้วางใจและวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในที่สุด

3. จุดยืนทางอุดมการณ์พัฒนาเศรษฐกิจของรัฐที่ชัดเจน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาว่าจะยืนหยัดในเส้นทางทุนนิยมเสรีหรือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลต้องมีความชัดเจนทางอุดมการณ์ ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่าง และต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้แสดงจุดยืนทางอุดมการณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เขาอยากจะเป็นตามฐานทรัพยากรที่แท้จริง

4. หลักธรรมาภิบาล รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งเครียดในการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่น

5. รัฐบาลต้องคำนึงถึงผลประโชยน์ร่วมของทุกฝ่ายต้องเป็นธรรม มากกว่าประโยชน์ของกลุ่มทุน ชนชั้นนำ นักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ หยุดเรียกร้องให้ประชาชน ชาวบ้าน คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีต้นทุน ทุกวันนี้พวกเขาก็้ลำบากและไร้โอกาสอยู่แล้ว ต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ของชาติ ชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่นเสียสละมามากพอแล้ว การสร้างสมดุลในผลประโยชน์ร่วม แบ่งเบาทุกข์ แบ่งปันสุข จึงต้องเป็นวิธีคิดใหม่ที่รัฐบาลต้องตระหนัก

การทบทวน 5 ประเด็นข้างต้นจึงเป็นหนทางที่ดีในการลดเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคตระหว่าง รัฐบาล และ ชาวบ้าน ในระยะยาว

หลักการสำคัญ 5 ประการข้างต้นซึ่งเป็นทางออกของปัญหาและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมันถูกกดทับ ปิดกั้น ด้วย ม.44 เมื่อวันนี้ไม่มี ม.44 แต่เรายังมีความหวังและความปรารถนาดีต่อกันจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทบทวนเงื่อนไข 5 ประการก่อนที่ความขัดแย้งจะทวีคูณความรุนแรง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อนาคตใหม่" ขอชะลอผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี ตั้งขอสังเกตเอื้อกลุ่มทุน

"พิธา" ลุยพื้นที่อีอีซี ดูปัญหากระดุมเม็ดแรก "ที่ดินทำกิน"

จับตาทิศทาง "อีอีซี" ในนโยบายรัฐบาล

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง