"อุตตม-ศักดิ์สยาม" เคลียร์ปมปลดบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

เศรษฐกิจ
7 ส.ค. 62
13:21
1,424
Logo Thai PBS
"อุตตม-ศักดิ์สยาม" เคลียร์ปมปลดบอร์ดรัฐวิสาหกิจ
ประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทยอยยื่นใบลาออกแล้ว 2-3 แห่ง หลังการเมืองกดดัน ขณะที่ รมว.คลัง ย้ำไม่มีข้อขัดแย้งกับ รมว.คมนาคม ปมเล็งปลดประธานบอร์ดการบินไทย ชี้คนใหม่ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติของ สคร.เช่นกัน

วันนี้ (7 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง จัดประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ 19 แห่ง ผู้บริหารบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อรับนโยบายในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจัดทำการลงทุนใหม่ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2562 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย

 


ภายหลังการประชุม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการของกระทรวงคมนาคม ต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะบอร์ดฯ ไม่มั่นใจนโยบายรัฐบาลใหม่ จึงได้กำชับเร่งรัดการเบิกจ่าย และรายงาน​ความคืบหน้า ให้ตนรับทราบทุกสัปดาห์

ส่วนปัญหาการทบทวนการทำงานของประธานบอร์ดการบินไทยว่า กระทรวงคมนาคม ในฐานะกระทรวงต้นสังกัดของการบินไทย เห็นว่า การประเมินผลทำงานของประธานบอร์ดฯ ถือเป็นเรื่องปกติ เพื่อไม่ให้มีอุปสรรคในการทำงาน โดยกำหนดเกณฑ์คะแนนชี้วัดคุณภาพการทำงาน (KPI) คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร จะยังเหมาะสมกับตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทยหรือไม่ ภายในสัปดาห์หน้า

 

 

ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวง​การคลังประสานการทำงานกับกระทรวงคมนาคมอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามการทำงานของบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ผ่านกลไกของสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยกรณีของการบินไทย ก็ไม่มีความขัดแย้งใดๆ กับกระทรวงต้นสังกัด

ไม่เพียงแต่การบินไทย แต่ประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่ง ต้องเข้ากระบวนการประเมินการทำงานใหม่เช่นกัน หากไม่ผ่านการประเมิน ผู้ที่กระทรวงต้นสังกัดคัดเลือกเข้ามา ก็ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทักษะความเชี่ยวชาญเพียงพอจะบริหาร ตามเกณฑ์ ที่สคร.กำหนด

แม้การบินไทย กำลังเผชิญปัญหาผลขาดทุน แต่ไม่จำเป็นต้องมีทักษะทางการคลัง โดยรายชื่อ ผู้เสนอเข้ารับการสรรหาเป็นประธานบอร์ดการบินไทย ก็ต้องผ่านเกณฑ์ทักษะความเชี่ยวชาญ ทีี่่กระทรวงการคลัง โดย สคร.เป็นผู้กำหนด

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ขณะนี้ มีประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ยื่นหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งแล้ว 2-3 แห่ง แต่ยังไม่มีบอร์ดการบินไทย

ขณะเดียวกัน บอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังพิจารณาข้อกฎหมาย เนื่องจากคำสั่งแต่งตั้งบอร์ดมาจาก ม.44 ก่อนตัดสินใจลาออกยกทั้งชุด เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลใหม่

สำหรับขั้น​ตอนการสรรหาประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจ แบ่งเป็น 2 กรณี 1.หากประธานบอร์ดลาออก แต่ยังครบองค์ประชุมบอร์ด กรรมการบอร์ดที่เหลือ สามารถสรรหาผู้ได้รับการนำเสนอชื่อ แล้วเสนอให้ สคร. พิจารณาคุณสมบัติ หากไม่ติดขัด สคร.จะส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หากคณะกรรมการชุดนี้เห็นชอบ ก็สามารถแต่งตั้งประธานบอร์ดคนใหม่ได้ เพียงแต่รายงานแจ้งนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คนร.รับทราบ โดยไม่ต้องเข้า ครม. ยกเว้นบอร์ดบางแห่งที่มีกฎหมายกำหนด เช่น ธนาคารออมสิน เป็นต้น

2.กรณีบอร์ดลาออกยกชุด กระทรวงต้นสังกัดจะเป็นผู้พิจารณากรรมการ แต่ต้องเป็นไปตามสัดส่วน โดยต้องมีกรรมการ ที่เชี่ยวชาญโดยตรง หรือ direct pool ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้น ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และมีคุณสมบัติในมิติต่างๆ ตาม สคร.กำหนด จากนั้นก็เสนอเข้า คณะกรรมการกลั่นกรองฯ และ คนร.ตามลำดับ

กระบวนสรรหาบอร์ดรัฐวิสาหกิจใหม่ ช่วยสกัดการเมืองแทรกแซงรัฐวิสาหกิจได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจคนใหม่ ก็จะได้ผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น ไม่ใช่ใครก็ได้ ที่นักการเมืองจะส่งเข้ามา


นอกจากนี้ นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ ปี 2562 มีผลการเบิกจ่ายในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.2561- มิ.ย.2562) จำนวน 129,815 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม โดยเป็นผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณจำนวน 71,525 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินจำนวน 58,290 ล้านบาท

 

 

ขณะที่ นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ที่ประชุมฯ สั่งให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ตั้งผู้จัดการโครงการ หรือ โปรเจกต์ แมนเนจเมนท์ เพื่อเป็นคนกลาง ประสานงานกับ สคร.เพื่อแก้ไขอุปสรรค และเร่งรัดโครงการ หลังประเมินว่า ยังเหลืองบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ไม่น้อยกว่า 140,000 ล้านบาท ไม่นับรวมเงินลงทุนที่เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย และต้องเร่งรัดเบิกจ่ายภายในไตรมาส4 เช่นกันอีก 31,000 ล้านบาท 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง