ชงเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีมนุษย์เงินเดือน 30%

เศรษฐกิจ
7 ส.ค. 62
16:06
413
Logo Thai PBS
ชงเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีมนุษย์เงินเดือน 30%
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอกระทรวงการคลัง ผลักดันกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ แทนแอลทีเอฟ โดยลดสิทธิผู้มีรายได้สูง แต่เพิ่มสัดส่วนลดหย่อนภาษี สำหรับผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง จาก 15% เป็น 30% แต่ไม่เกิน 250,000 บาท

วันนี้ (7 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ เฟทโก้ เดินทางเข้าพบ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอความเห็นรูปแบบกองทุนรวมหุ้นเพื่อความยั่งยืน หรือ กองทุนเอสอีเอฟ เพื่อทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ แอลทีเอฟ ซึ่งเป็นมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ลงทุน ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปีนี้

 

 

โดยกองทุนเอสอีเอฟ จะลงทุนในหุ้น ธุรกิจ ที่มีธรรมาภิบาล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ส ฟันด์ สัดส่วนไม่น้อยกว่า 65% ของเงินลงทุน

พร้อมกับเสนอปรับลดสิทธิลดหย่อนภาษี ผู้มีรายได้สูง จากเดิมไม่เกิน 500,000 บาท เหลือ 250,000 บาท หลังมีผลการศึกษาบ่งชี้ว่าผู้มีรายได้สูงได้ประโยชน์จากกองทุนแอลทีเอฟ ซึ่งสร้างภาระงบประมาณโดยใช่เหตุ

 

 

ขณะเดียวกัน สภาตลาดทุนฯ เสนอให้เพิ่มสัดส่วนสิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน สูงขึ้น 2 เท่า จากเดิมได้สิทธิลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 15% เพิ่มเป็น 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 250,000 บาท โดยถือครองหน่วยลงทุน นาน 7 ปีปฏิทิน เท่ากับกองทุนแอลทีเอฟแบบเดิม

ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า เชื่อว่ากองทุนรูปแบบใหม่ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางหันมาออมเงินระยะยาวเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน ยอดลงทุนกองทุนแอลทีเอฟ มีประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสนับสนุนการเตรียมเงินออมเข้าสู่สังคมสูงวัย และลดวามเหลื่อมล้ำตามเจตนารมณ์ของกองทุนแอลทีเอฟดั้งเดิม โดยไม่สร้างภาระงบประมาณมากนัก

กองทุนใหม่ จะลดสิทธิลดหย่อนภาษีคนรวย ครึ่งหนึ่ง และให้สิทธิลดหย่อนภาษีผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 30% 

ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวอีกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่มีความเห็นใดๆ ต่อรูปแบบกองทุนใหม่ และขอเวลาศึกษาข้อดีข้อเสียก่อน ซึ่งเฟทโก้ เคยนำเสนอรูปแบบกองทุนนี้ ต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.แล้ว แต่ผู้อำนวยการ สศค. ระบุว่า ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นด้วยกับรูปแบบกองทุนใหม่ จะเข้าสู่กระบวนการผลักดันแก้ไขประมวลรัษฎากร และควรประกาศบังคับใช้ภายในปีงบประมาณ 2563

ปัจจุบัน กองทุนแอทีเอฟแบบเดิม มีเงินสะสมทั้งระบบมากกว่า 300,000 ล้านบาท โดยในแต่ละปี จะมีเงินลงทุนใหม่เข้ามาเติม เฉลี่ยปีละ 50,000-60,000 ล้านบาท หากไม่มีกองทุนใหม่ เข้ามาทดแทน เงินลงทุนจำนวนนี้ จะทยอยครบกำหนด และออกจากตลาด

 

 

ก่อนหน้านี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า สศค.รับฟังความเห็นของสภาตลาดทุน ซึ่งกองทุนใหม่ต้องตอบโจทย์การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และรองรับสังคมสูงวัยได้จริง

แต่ยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ควรต่ออายุกองทุนแอลทีเอฟรูปแบบเดิม ซึ่งมีผลการศึกษารองรับชัดเจนว่าเอื้อประโยชน์ผู้มีรายได้สูงได้ประโยชน์ และสร้างภาระงบประมาณโดยใช่เหตุ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง