อินเดียเพิกถอนสถานะพิเศษรัฐจัมมูและแคชเมียร์

ต่างประเทศ
7 ส.ค. 62
19:37
2,112
Logo Thai PBS
อินเดียเพิกถอนสถานะพิเศษรัฐจัมมูและแคชเมียร์
ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง หลังจากอินเดียประกาศเพิกถอนสถานะพิเศษของจัมมูและแคชเมียร์ เปิดทางให้รัฐบาลกลางสามารถเข้าไปควบคุมกิจการต่างๆ ได้โดยตรง

วันนี้ (8 ส.ค. 2562) ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานเหนือดินแดนแคชเมียร์ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกตลอด 70 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยความซับซ้อนในมิติด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ศาสนา และบาดแผลทางประวัติศาสตร์

ภูมิหลังจัมมูและแคชเมียร์

ในช่วงที่อังกฤษยึดครองดินแดนอนุทวีป จัมมูและแคชเมียร์มีสถานะเป็นรัฐมหาราชาที่มีเจ้าผู้ปกครองท้องถิ่นไม่ได้ถูกอังกฤษปกครองโดยตรง จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษจึงมอบอธิปไตยแก่ดินแดนภายใต้การปกครอง เมื่อเดือน มิ.ย. 2490 และแบ่งดินแดนออกเป็นอินเดียและปากีสถาน ทำให้รัฐมหาราชาต่างๆ ต้องเลือกฝั่งให้สอดคล้องกับสัดส่วนทางศาสนาของประชากรในแต่ละรัฐ

อย่างไรก็ตามมหาราชาฮารี ซิงห์ เจ้าผู้ปกครองจัมมูและแคชเมียร์ซึ่งเป็นชาวฮินดู ตัดสินใจรวมดินแดนกับอินเดีย แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จนสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างอินเดียกับปากีสถานและกลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธเรียกร้องเอกราชจากอินเดียอย่างต่อเนื่อง

รัฐจัมมูร์และแคชเมียร์แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 

1. จัมมู ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู

2. แคชเมียร์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

3. ลาดักห์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธแบบทิเบต

 

แผนที่รัฐจัมมูและแคชเมียร์ในปัจจุบัน

แผนที่รัฐจัมมูและแคชเมียร์ในปัจจุบัน

แผนที่รัฐจัมมูและแคชเมียร์ในปัจจุบัน

 

ตามมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดียให้สิทธิพิเศษแก่จัมมูและแคชเชียร์ในการออกกฎหมายและการมีธงประจำรัฐ โดยมาตราดังกล่าวถือเป็นการคุ้มครองอัตลักษณ์ของประชากร เนื่องจากจัมมูและแคชเมียร์เป็นเพียงรัฐเดียวของอินเดียที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 

ชนวนความขัดแย้ง

ชนวนความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก ราม นาถ โกวินท์ ประธานาธิบดีและสมาชิกวุฒิสภาลงมติเพิกถอนมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2562 เพื่อหลอมรวมจัมมูและแคชเมียร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภายนอกมากขึ้น

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอินเดียออกกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งดินแดนสหภาพแห่งใหม่ (Union Territory) ส่งผลให้จัมมูและแคชเมียร์เปลี่ยนสถานภาพจากรัฐที่มีสิทธิในการปกครองตนเองเป็นดินแดนที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางอินเดียอย่างสมบูรณ์ โดยกฎหมายฉบับนี้แบ่งพื้นที่ดินแดนสหภาพเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. จัมมูและแคชเมียร์

2. ลาดักห์ 

ความเคลื่อนไหวของอินเดียทำให้อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถานประกาศระงับความร่วมมือทางการค้าของทั้ง 2 ประเทศและลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยการสั่งขับข้าหลวงใหญ่อินเดียประจำกรุงอิสลามาบัดออกจากประเทศ 

นอกจากนี้ยังสั่งการให้กองกำลังปากีสถานยกระดับการลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เปราะบางอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยและเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาข้อพิพาทในครั้งนี้

การเพิกถอนสถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวมุสลิมในแคชเมียร์เป็นอย่างมาก นำไปสู่การชุมนุมประท้วงและการจุดไฟเผาภาพของนเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และธงชาติอินเดียด้วยความโกรธแค้น

ชาวมุสลิมชุมนุมประท้วงต่อต้านการเพิกถอนสถานะพิเศษ

ชาวมุสลิมชุมนุมประท้วงต่อต้านการเพิกถอนสถานะพิเศษ

ชาวมุสลิมชุมนุมประท้วงต่อต้านการเพิกถอนสถานะพิเศษ

 

ผลกระทบการยกเลิกสถานะพิเศษ

ความเปลี่ยนแปลงอันน่าสนใจที่จะเกิดขึ้นหลังการยกเลิกสถานะพิเศษ ได้แก่

1. ไม่อนุญาตให้ใช้ธงประจำรัฐและใช้ได้เฉพาะธงชาติอินเดียเท่านั้น

2. เปิดทางให้รัฐบาลอินเดียเข้าไปแทรกแซงการเงินได้ในยามฉุกเฉิน

3. อนุญาตให้ชาวอินเดียทั่วประเทศถือครองที่ดินในรัฐนี้ได้อย่างอิสระ

ขณะที่ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ นักวิชาการด้านการเมืองเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ระบุว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียกับปากีสถานและการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธในแคชเมียร์ที่ไม่พอใจอินเดียอยู่เป็นทุนเดิม

 

ในมุมของปากีสถาน การที่อินเดียมีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของแคชเมียร์ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของสหประชาชาติอยู่
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งกำลังทหารและการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยการตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในแคชเมียร์ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าจับตามองคือทางออกของข้อพิพาทเหนือพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจะดำเนินต่อไปอย่างไร

พงศธัช สุขพงษ์

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง