วิเคราะห์การปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น

การเมือง
18 มิ.ย. 58
06:22
320
Logo Thai PBS
วิเคราะห์การปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น

การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 วันนี้ (18 มิ.ย.2558) เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงยืนยันว่า สนช. พร้อมลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ไปด้วยความราบรื่น ไร้ข้อท้วงติง หากจะมีบ้างก็แค่ถ้อยคำที่จะปรับแต่งให้ชัดเจนขึ้นในตัวอักษรแต่ก็มีเสียงสะท้อนในอีกมุมหนึ่งเกิดขึ้นมาด้วย นั่นก็คือ สมาชิกส่วนหนึ่งเตรียมจะอภิปรายเน้นที่การซักถามเหตุและผลในการกำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สิ้นสุดหน้าที่ เมื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ นั่นเพราะเหตุผลอะไร และจะมีผลเชื่อมโยงถึงสถานการณ์การเมืองอย่างไร

การแก้รัฐธรรมนูญรวม 7 ประเด็นในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะมีผลต่อโรดแมป คสช. ด้วยเหตุของการเปิดทางให้จัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกลายเป็นเรื่องที่ถูกจับไปวิเคราะห์ถึงส่งผลที่จะทำให้รัฐบาล-คสช.ต้องอยู่บริหารประเทศนายออกไปอีกเท่านั้น แต่ประเด็นการสิ้นสุดหน้าที่ของ สปช. ไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนำไปสู่การพิจารณาตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ไม่น้อยกว่า 200 คน ก็มีผลต่อสถานการณ์การเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนนับจากนี้และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ตั้งข้อสังเกตกันว่า สมาชิก สนช. จะตั้งข้อซักถามตัวแทน ครม. โดยเฉพาะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวในวันนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความชัดเจน ทั้งในแง่ของหลัการและในแง่ของเจตนาที่แท้จริง ของ ครม.-คสช.

เนื่องจากมีการวิเคราะห์กันว่า เมื่อกำหนดให้ สปช. สิ้นสุดหน้าที่ลง และให้อำนาจ นายกรัฐมนตรี พิจารณาแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่เกิน 200 คนนั้น กำลังสั่นสะเทือนสภาวะภายในของ สปช.ไปไม่น้อย ไม่ว่าจะด้านภารกิจที่ตั้งไว้ "37 วาระปฏิรูป 6 วาระพัฒนา" เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็วหรือภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยประเด็นนี้ อาจจะมีทั้งผลดีอยู่ที่ว่า สปช. จะสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรมเด่นชัดโดยเร็วและส่งมอบหน้าที่ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในอีกช่วงเวลาต่อไป  แต่ผลเสียก็คือทำให้สมาชิก สปช.บางคนบางกลุ่ม ต้องออกมาทบทวนประเด็นทั้งหมดรวมไปถึงประเด็นที่ไม่อยู่ในวาระที่กำหนดไว้เดิม อย่าง การเสนอเปิดคาสิโนถูกกฎหมาย

แต่สำหรับผลที่กระทบต่อจิตใจสมาชิก สปช. อาจเป็นแรงส่งสำคัญให้ต้องตั้งคำถามทั้งต่อตัวเองและต่อ ครม.-คสช.ว่าผลการทำงานที่ผ่านมา "ไม่เข้าตา ไม่ตรงใจ หรือไม่สอดคล้องกันตรงไหน อย่างไร ถึงต้องปรับแก้โครงสร้างแม่น้ำ 5 สาย โดยให้ สปช.สิ้นสุดหน้าที่ลงทั้งที่เดิมนั้น ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขนี้ไว้และยังให้บทบาทในการนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายด้วยและที่ทำร้ายจิตใจสมาชิก สปช.มากกว่าประเด็นนี้อีก คือการแต่งตั้งชุดใหม่ในจำนวนไม่เกิน 200 คน ซึ่งหมายความว่า สมาชิก สปช. อย่างน้อย ๆ 20 คน ต้องหลุดออกไปแน่ ทั้งที่จะพยายามบอกว่า เปิดทางไว้แล้วสำหรับคนเก่าที่จะกลับมาทำหน้าที่ได้แต่ก็ไม่รู้ว่าบุคคลใดจะได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นครั้งที่ 2

นี่อาจเป็นความระส่ำที่ส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้และน่าจะเกิดขึ้นตลอด 2 เดือนนี้อีก เพราะสมาชิก สปช.ย่อมต้องมีปฏิกริยาเกิดขึ้น ไปจนกว่าจะถึงวันลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งประธาน สปช. ระบุว่า น่าจะราววันที่ 5 - 7 ก.ย. ที่จะได้นัดประชุมลงมติกัน และเมื่อถึงวันนั้น ยังต้องพิจารณากันต่อด้วยว่าสมาชิก สปช.ทั้ง 220 คน ผู้ใดจะลงมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบ และใช้ด้วยดุลยพินิจอย่างไรกันแน่ในการลงมติ แม้บางคนจะออกมายืนยันว่า จะใช้ดุลยพินิจที่ว่าด้วยเหตุและผลในการพิจารณาลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วและคงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมสมาชิก สนช. ต้องตั้งคำถามนี้กับตัวแทน ครม. ระหว่างการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ เพราะแม้ไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลต่อ สนช.โดยตรง แต่ สปช. ก็เป็นส่วนหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย และเรื่องแบบนี้ ก็ไม่แน่..ไม่นอน อนาคต ครม.-คสช. ยังคงต้องบริหารงานต่อไปอีกนาน วันหนึ่งอาจเป็นของ สนช.ก็เป็นได้ ถามกันให้หายคลางแคลงใจดีกว่า

ส่วนประเด็นอื่น ๆ ในการอภิปรายพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวของสมาชิก สนช.ในวันนี้ สมาชิกส่วนหนึ่งก็ยืนยันแล้วว่า จะเป็นการอภิปรายแสดงความคิดเห็นและขอปรับแก้เพียงถ้อยคำ หรือตัวอักษรเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเคลือบแคลงสงสัยอื่น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง