เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อ "อุปกรณ์ลดค่าไฟ"

เศรษฐกิจ
8 ส.ค. 62
13:15
5,528
Logo Thai PBS
เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อ "อุปกรณ์ลดค่าไฟ"
การไฟฟ้านครหลวง ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประสานเสียง เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ เพราะไม่มีอุปกรณ์ช่วยลดค่าไฟในครัวเรือนอยู่จริง

วันนี้ (8 ส.ค.2562) นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ในฐานะโฆษก กฟน. พร้อมผู้บริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ ในฐานะผู้เสียหาย จำนวน 4 คน เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก. ปอท.หลังมีผู้แอบอ้างใช้ภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่และตราสัญลักษณ์องค์กรไปโฆษณาชวนเชื่อ และจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า ในราคาเครื่องละ 1,000 บาท ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

 

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อโฆษณาดังกล่าว เนื่องจาก กฟน.ได้ทดสอบสั่งซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวพบว่า ภายในกล่องพลาสติก มีเพียงวงจรที่ช่วยให้หลอดไฟขนาดเล็กทำงาน เชื่อมกับอุปกรณ์เก็บประจุ หรือ คาปาซิเตอร์ ก่อนนำไปพิสูจน์แล้วพบว่า อุปกรณ์ดังกล่าว ไม่ช่วยประหยัดค่าไฟแต่อาจส่งผลให้ค่าไฟสูงขึ้น

กฟน.ทดสอบสั่งซื้ออุปกรณ์ที่อ้างว่าช่วยประหยัดไฟ แกะออกมาพิสูจน์แล้ว ไม่ช่วยลดค่าไฟแต่กลับกินไฟมากกว่า จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ เพราะอุปกรณ์ลดการไฟในครัวเรือนไม่มีอยู่จริง 

โฆษก กฟน.กล่าวอีกว่า มิจฉาชีพ เคยหลอกขายเครื่องประหยัดไฟลักษณะคล้ายกันนี้เมื่อราว 3 ปีก่อน แต่เป็นการขายในวงจำกัด แต่ปัจจุบัน มิจฉาชีพจำหน่ายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้อาจมีผู้หลงเชื่อซื้อหามาใช้จำนวนมาก จึงขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณา อีกทั้งกล่องอุปกรณ์ดังกล่าวยังผลิตแบบไม่ได้มาตรฐานซึ่งหากเสียบปลั๊กทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาจเกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร หรือ ไฟไหม้ได้

 

 

นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังผลิตการ์ดประหยัดค่าไฟ ซึ่งมีลักษณะคล้ายบัตรเครดิตและหลอกว่า หากนำการ์ดไปวางบนมิเตอร์จะช่วยชะลอจานหมุนส่งผลให้ประหยัดค่าไฟนั้นก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน

รวมทั้ง หากประชาชนว่าจ้างมิจฉาชีพเข้าปรับแต่งมิเตอร์เพื่อให้การทำงานของจานหมุนอ่านค่าคลาดเคลื่อนเพื่อทุจริตหวังลดค่าไฟฟ้าซึ่งหากพบค่าไฟลดลงอย่างผิดปกติ กฟน.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ เจ้าบ้านต้องเป็นผู้รับผิดฐานเป็นผู้ว่าจ้างต้องชำระค่าปรับ ค่าไฟฟ้าย้อนหลัง รวมทั้งถูกดำเนินคดีอาญาด้วย

 

ตร.เตือนอย่าโอนไว

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท.กล่าวว่า ตำรวจจะเร่งรวบพยานหลักฐาน รวมทั้งตรวจสอบบัญชีปลายทางที่รับเงินโอน ก่อนดำเนินดคีฐานฉ้อโกง ซึ่งระวางโทษทั้งทางแพ่งและอาญา จึงขอให้ผู้เสียหายจากการซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เข้าแจ้งความดำเนินดคีต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนการขอรับเงินเยียวยาจากการซื้อสินค้าที่ไม่เป็นไปตามคำโฆษณาจะถือเป็นอีกคดีที่ต้องดำเนินการต่อไป

พร้อมเตือนประชาชน เพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบโฆษณาสินค้าก่อนสั่งซื้อผ่านออนไลน์ หลังพบปัญหา ผู้หลงเชื่อมักมีพฤติกรรมชำระเงินอย่างรวดเร็ว เพราะเห็นว่าภาพโฆษณาดูน่าเชื่อถือและราคาสินค้าไม่สูงมากนักจึงเสี่ยงสั่งซื้อสินค้าโดยขาดการไตร่ตรอง

อย่าใช้เงินอย่างวู่วาม ขอให้ตรวจสอบความเป็นไปได้ ของโฆษณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจโอนเงิน

รอง ผบก.ปอท.เชื่อว่า หากประชาชน ไม่โลภ และระมัดระวังในการซื้อสินค้าออนไลน์ จะช่วยลดปัญหาหลอกจำหน่ายสินค้าแบบนี้ได้

คู่มือประหยัดไฟครัวเรือน

สำหรับแนวทางประหยัดค่าไฟครัวเรือน 

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า โดยเปิดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เฉพาะเวลาที่ต้องการใช้งานและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน
  • เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทก่อนเปิดเครื่องปรับอากาศ รวมถึงการปรับตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปจะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักใช้ไฟฟ้ามากขึ้น 
  • การเปิดพัดลมช่วยให้อากาศมีการเคลื่อนที่ทำให้รู้สึกเย็นเพิ่มขึ้นได้ 
  • ไม่แช่อาหารร้อนในตู้เย็น รวมถึงไม่ควรเปิด-ปิด ตู้เย็นบ่อยครั้งจะส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วย 
  • การเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดไฟฟ้าชนิด LED 
  • เลือกใช้เครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง