52 ปี ประชาคมอาเซียน ภาค ปชช.ชี้ ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง

สังคม
8 ส.ค. 62
19:25
827
Logo Thai PBS
52 ปี ประชาคมอาเซียน ภาค ปชช.ชี้ ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง
คณะกรรมการไทยเพื่อการจัดการประชุมอาเซียนภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ ระบุ เพื่อให้เจตนารมณ์การก่อตั้งประชาคมอาเซียนเป็นจริง ต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 4 ข้อ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคม ได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง


วันนี้ (8 ส.ค.2562) คณะกรรมการไทยเพื่อการจัดการประชุมอาเซียนภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ ในวาระประชาคมอาเซียนครบรอบปีที่ 52 สู่การเป็นประชาคมที่มุ่งประโยชน์ของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สาระสำคัญในแถลงการณ์ระบุ เพื่อให้เจตนารมณ์ของการก่อตั้งประชาคมอาเซียนเป็นจริง ควรคำนึงถึงหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ สถานการณ์ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน, สนับสนุนและใส่ใจต่อข้อเสนอจากการประชุมอาเซียนภาคประชาชน ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 12 ก.ย.2562

บรรจุการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียนและภาคประชาสังคม เป็นวาระการประชุมอย่างเป็นทางการ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 2, ให้กลไกต่างๆ ของอาเซียน ยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาสังคมในการกำหนดทิศทางนโยบาย เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วม และได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง

 

 

แถลงการณ์ ประชาคมอาเซียน ครบรอบปีที่ 52
สู่การเป็นประชาคมที่มุ่งประโยชน์ของประชาชน (People Oriented)
และ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered) อย่างแท้จริง

 

ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไทยขอร่วมกับรัฐสมาชิกและประชาชนทั่วภูมิภาคเฉลิมฉลองโอกาสที่ประชาคมอาเซียนซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2510 ได้ครบรอบปีที่ 52 ด้วยความยินดียิ่ง


ตลอดระยะเวลา 52 ปี ประชาคมอาเซียนได้พัฒนาความมุ่งมั่นในอันที่จะรับผิดชอบร่วมกันในของรัฐสมาชิก โดยมีกฏบัตรอาเซียน (ASEAN CHARTER) ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 13 ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่สิงคโปร์ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 รับรองเจตนารมณ์และหลักการสำคัญ อันได้แก่ การเสริมสร้างคุณค่าของสันติภาพในภูมิภาค (ตามความมุ่งประสงค์ ข้อที่ 1 ของกฎบัตรอาเซียน) ให้อาเซียนเป็นประชาคมที่เอื้ออาทรหรือร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน (Sharing) และเป็นประชาคมแห่งการแบ่งปันกัน (Caring) เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเพิ่มพูนความเป็นอยู่ที่ดีและการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม (ความมุ่งประสงค์ของอาเซียน ข้อที่ 11) ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered) ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วม และได้รับผลประโยชน์ (ความมุ่งประสงค์ของอาเซียน ข้อที่ 13)


เพื่อให้เจตนารมณ์ดังกล่าวปรากฏเป็นจริง จำเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนและรัฐสมาชิกจะต้อง

  1. ให้ความใส่ใจ หาทางออกร่วมกันในปัญหา สถานการณ์ที่กระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อันได้แก่เรื่อง 1) สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และ การเข้าถึงความยุติธรรม (Human Rights, Democracy and Access to Justice) 2) การค้า การลงทุน และอำนาจของภาคธุรกิจ (Trade and Investment, Corporate Power ) 3) สันติภาพและความมั่นคง (Peace and Security 4) Migration) 4) การย้ายถิ่น การค้ามนุษย์ และ ผู้ลี้ภัย ( Migration, Trafficking and Refugees ) 5) งานที่มีคุณค่า สุขภาพ และ หลักประกันทางสังคม (Ecological Sustainability ) 6) ความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ และ 7) นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ และ สิทธิทางคอมพิวเตอร์ (Innovation, New and Emerging Technology and Digital Rights)
  2. ให้การสนับสนุนในทุกวิถีทาง และใส่ใจอย่างจริงจังต่อข้อเสนอที่เป็นผลสรุปจากการประชุมอาเซียนภาคประชาชน ประจำปี 2562 (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People’s Forum 2019 : ACSC/APF 2019) ซึ่งจะจัดประชุมในวันที่ 10-12 กันยายน 2562 นี้
  3. ให้มีการบรรจุการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำอาเซียนกับตัวแทนภาคประชาสังคม (Interface Meeting) เป็นวาระการประชุมอย่างเป็นทางการของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่สอง ในช่วงปลายปี 2562 นี้ และ 
  4. ให้กลไกต่าง ๆ ของอาเซียน ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN SEC) คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ACMW) และกระทรวงตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นจุดประสานงาน และสภาของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) และ ประชาคมสังคมวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) ในระดับประเทศของทุกรัฐสมาชิก ยกระดับการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม ในการกำหนดทิศทางนโยบาย การปฏิบัติการ และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติการ


ด้วยความเชื่อมั่น

คณะกรรมการไทยเพื่อการจัดการประชุมอาเซียนภาคประชาชน

8 สิงหาคม 2562

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมลงนาม RCEP ปี 2020

อาเซียนพิจารณาร่างเจรจาจัดทำ CoC ฉบับแรกสำเร็จ

เผย 3 สาเหตุน้ำโขงแล้ง

"อาเซียน" ถกปมร้อนส่งตัวโรฮิงญากลับรัฐยะไข่-ข้อพิพาททะเลจีนใต้

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง