ชง “ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ภูมิภาค
9 ส.ค. 62
17:43
1,786
Logo Thai PBS
ชง “ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ผอ.สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (เบโด้) ชง "ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย" จดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้ทางกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับรองว่าข้าวเหนียวพันธุ์นี้เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

วันนี้ (9 ส.ค.2562) นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผอ.สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (เบโด้) กล่าวว่า หลังจากทีมนักวิจัยเข้ามาสำรวจชุมชนบ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับป่าสงวนและเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าภูหลวง พบชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพด้านอาหาร สมุนไพร และมีความเข้มแข็งรักษาวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม และการต่อยอดฐานทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่โดยเฉพาะสายพันธุ์ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย และฝ้ายตุ่ยที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์

เบโด้ ได้เข้ามาช่วยทำข้อมูลงานวิจัยข้าวเหนียวสายพันธุ์แดงเมืองเลย เพื่อยื่นจดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้ทางกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับรองว่าข้าวเหนียวพันธุ์นี้เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น


ขณะที่ นายแสวง ตาปะ ประธานกลุ่มบ้านศรีเจริญ กล่าวว่า ข้าวแดงเมืองเลยเป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองของ จ.เลย ที่มีมายาวนาน มีลักษณะเด่นคือ มีความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นข้าวที่มีเปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลต่ำ ทำให้เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน

ข้าวเหนียวพันธุ์นี้หายไปจากชุมชนระยะหนึ่ง กระทั่งมีโอกาสพบปะกับเครือข่ายข้าวพื้นเมืองจึงได้ซื้อต้นและนำกลับมาปลูกในพื้นที่อีกครั้ง จากปี 61 มีผลผลิตเพียง 5 ตัน แต่ปีนี้เพิ่มเป็น 15 ตัน ซึ่งได้พยายามให้เกษตรกรและชาวบ้านมีโอกาสกินข้าวพื้นเมืองที่ตัวเองเป็นคนปลูก

ทั้งนี้ นายศิรินญา ทองแบบ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายขุนเลย บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย เตรียมยื่นเรื่องกระทรวงพาณิชย์ เพื่อคุ้มครองต้นฝ้ายตุ่ย ฝ้ายพันธุ์พื้นเมือง และลายน้ำเลย ซึ่งเป็นลายฝ้ายทอมือลายแรกของชุมชนบ้านศรีเจริญ ที่เพิ่งคิดค้นลายใหม่ขึ้นมาสำเร็จ โดยมีสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (เบโด้) ช่วยต่อยอดความรู้ ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน และจัดการตลาดแบบยั่งยืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง