"สุพจน์" เชื่อการเมืองไม่กระทบบรรทัดฐานศาล รธน.

การเมือง
10 ส.ค. 62
16:07
2,294
Logo Thai PBS
"สุพจน์" เชื่อการเมืองไม่กระทบบรรทัดฐานศาล รธน.
"สุพจน์ ไข่มุกด์" เชื่อมั่นว่าไม่มีแรงกดดันใดส่งผลต่อบรรทัดฐานการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญได้ ท่ามกลาง "เผือกร้อนทางการเมือง" ที่จ่อคิวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวินิจฉัย

คำร้องที่เชื่อมโยงเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง กำลังทยอยเข้าคิวเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "สุพจน์ ไข่มุกด์" เชื่อมั่นว่า ไม่มีแรงกดดันใดๆ ที่จะส่งผลต่อบรรทัดฐานการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญได้ พร้อมกับเปิดใจว่าในอดีตเคยเผชิญสภาวะเช่นนี้มาแล้ว โดยยังคงยึดมั่นในปฏิบัติหลักความเป็นกลาง ภายใต้หลักของกฎหมายและรัฐธรรมนูญทุกประการ

ต้องบอกว่าที่มาของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นผู้พิพากษาจากศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุดแล้ว ยังมีสัดส่วนจากนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่นๆ รวมอยู่ด้วย และปฏิเสธไม่ได้ว่าตามอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะต้องพิจารณาคำร้องที่เกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อันสืบเนื่องจากข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีคำร้องที่สืบเนื่องไปถึงสถานการณ์การเมือง หรือบางคำร้องก็ถูกเรียกกันว่า "เผือกร้อนทางการเมือง"

ยกระดับรัฐธรรมนูญ-กฎหมายลูก

อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าร่วมร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ 2 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เล่าถึงเจตนาการยกระดับความเข้มข้นของกฎหมาย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับบริบททางสังคมและการเมือง ซึ่งต่างก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือในฐานะอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ยอมรับถึงหลักการเปลี่ยนแปลง เมื่อต้องนำมาสู่การปฏิบัติ ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดัน จากสังคมและการเมือง ด้วยผลแห่งการบังคับใช้

 "เผือกร้อนคดีทางการเมือง"

วันนี้ต้องยอมรับว่า คำร้องต่างๆ ที่อยู่ในมือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีส่วนหนึ่งถูกเรียกว่า "เผือกร้อน" จ่อคิวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวินิจฉัย-ชี้ขาด ไล่เรียงตามคำร้องที่ค้างอยู่และอยู่ในความสนใจ 6 เรื่องหลัก และ 27 สิงหาคมนี้ ต้องรอฟังคำวินิจฉัยคำร้อง 4 รัฐมนตรี ครม.ประยุทธ์ 1 กรณีถือหุ้นบริษัทสัมปทานของรัฐ

 

ล่าสุดคู่ความส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหาแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่นัดไต่สวนและฟังคำวินิจฉัย แต่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว กรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลงหรือไม่ เหตุเพราะมีสถานะเป็นหัวหน้า คสช. ที่เป็นลักษณะต้องห้าม กรณีเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

เช่นเดียวกับคำร้องการถือครองหุ้นสื่อ วี-ลัค มีเดีย ระหว่างลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่ีอพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ส่งคำชี้แจงหักล้างข้อกล่าวหาแล้ว ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมถึง 2 ครั้ง 2 คราก็แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่กำหนดวันฟังคำวินิจฉัย

ล่าสุดคือกรณีปัญหาคำถวายสัตย์ฯ ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่มีผู้ยื่นคำร้องผ่านหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็หลายช่องทางทีเดียว ซึ่งแค่ 3 คำร้องนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองและบ้านเมือง ที่รอฟังความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เชื่อมั่นในหลักปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะคนในอดีตหรือคนในปัจจุบัน ต่างก็จะทำงานยึดหลักความเป็นกลาง..ไม่ฝัก-ใฝ่ฝ่าย ทางการเมือง

5 ผู้เหมาะสมนั่ง "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 9 คน มี 5 คน ทั้งที่ต้องเกษียณอายุราชการ และสิ้นสุดหน้าที่ลงตามคำสั่ง คสช. ที่ต่ออายุไว้ และตามกระบวนการคัดเลือกและสรรหา ก็ได้ผู้สมควรดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบจำนวนแล้ว โดยมาจากความเห็นชอบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน และมาจากที่ประชุมศาลปกครองสูงสุด 1 คน ส่วนอีก 1 คนผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ซึ่งคาดว่าเดือนสิงหาคมนี้จะนำรายชื่อเข้าสู่กระบวนการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภาได้

อาจจะเป็นข้อกังวล หรือจะเรียกว่าข้อกังขาก็ได้ เมื่อว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่อีก 5 คน จะต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการคัดเลือกและแต่งตั้งโดย คสช. แต่กระบวนการได้มาซึ่งผู้เหมาะสม ที่เป็นต้นทางก็น่าจะคลายข้อเคลือบแคลงสงสัยลงได้บ้าง เพราะต่างก็เป็นมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก จากแต่ละองค์กรที่เลือกสรรอย่างดีที่สุดแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง