ประท้วงฮ่องกง : วิกฤตรุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี

ต่างประเทศ
11 ส.ค. 62
08:21
3,247
Logo Thai PBS
ประท้วงฮ่องกง : วิกฤตรุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี
การประท้วงในฮ่องกงผ่านมาไม่ต่ำกว่า 60 วันและมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป หลังจากสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทุกข้อของกลุ่มผู้ชุมนุม

เมื่อวานนี้ (11 ส.ค. 2562) ตำรวจฮ่องกงเข้ารื้อถอนแนวกั้นที่ผู้ชุมนุมทำไว้กลางถนนและยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมของฝูงชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงเพิกถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยสมบูรณ์

 

ผู้ประท้วงใช้แสงเลเซอร์ในการต่อกรกับตำรวจ

ผู้ประท้วงใช้แสงเลเซอร์ในการต่อกรกับตำรวจ

ผู้ประท้วงใช้แสงเลเซอร์ในการต่อกรกับตำรวจ

 

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมคือย่านจิมซาจุ่ยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและย่านการค้าซึ่งปกติจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ชุมนุมใช้กลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวด้วยการแบ่งฝูงชนออกเป็นหลายกลุ่มและกระจายตัวไปตามที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว

วิกฤตรุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี

จาง เสี่ยวหมิง ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า ระบุว่า ฮ่องกงกำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่กลับสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปี 2540 หลังจากการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายในเร็ววันนี้ โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงมีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ 

1. เพิกถอนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนโดยสมบูรณ์ 
2. หยุดเรียกการประท้วงเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ว่า การก่อจลาจล
3. ปล่อยตัวและถอนฟ้องผู้ประท้วงที่ถูกตำรวจจับกุม
4. ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนการใช้ความรุนแรงของตำรวจ
5. ยุบสภาและให้สิทธิชาวฮ่องกงในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม

ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าเน้นย้ำว่าจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องทุกข้อของผู้ประท้วง ยกเว้นการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวน นอกจากนี้ยังพาดพิงไปถึงวาทะของเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตประธานาธิบดีจีนที่กล่าวไว้ว่า รัฐบาลปักกิ่งต้องแทรกแซงความวุ่นวายในฮ่องกง

จาง เสี่ยวหมิง ผอ.สำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า

จาง เสี่ยวหมิง ผอ.สำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า

จาง เสี่ยวหมิง ผอ.สำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า

 

อย่างไรก็ตาม เขาแสดงความมั่นใจในศักยภาพของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและตำรวจปราบจลาจลในการควบคุมสถานการณ์การประท้วงและไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการส่งกำลังพลจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People's Liberation Army: PLA) เข้าไปปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง

 

ตำรวจจีนซักซ้อมการปราบจลาจลที่นครเซินเจิ้น

ตำรวจจีนซักซ้อมการปราบจลาจลที่นครเซินเจิ้น

ตำรวจจีนซักซ้อมการปราบจลาจลที่นครเซินเจิ้น

 

อ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงซ้ำรอยเหตุการณ์เทียนอันเหมิน เมื่อปี 2532 ยังเป็นไปได้น้อย เนื่องจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองในฮ่องกงแทบไม่มีโอกาสลุกลามเข้าไปในแผ่นดินใหญ่

เหตุการณ์เทียนอันเหมินเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องทางการเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนในแผ่นดินใหญ่โดยตรงแต่การประท้วงในฮ่องกงแทบไม่มีโอกาสลามเข้าไปในแผ่นดินใหญ่จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้กำลังปราบปราม 

 

อ.ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

อ.ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

อ.ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

 

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2562 นักธุรกิจและนักการเมืองฮ่องกงที่สนับสนุนรัฐบาลจีนไม่ต่ำกว่า 500 คน ร่วมการประชุมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People's Congress: NPC) และสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ (Chinese People's Political Consultative Conference: CPPCC) ที่นครเซินเจิ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ในฮ่องกง 

ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การยุติความรุนแรงและความวุ่นวาย รวมทั้งการพลิกฟื้นความเป็นระเบียบเรียบร้อยถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุดเพื่อสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นให้กลับคืนสู่ฮ่องกงอีกครั้ง นอกจากนี้ยังเตรียมจัดการเดินขบวนอย่างสันติเพื่อเสริมสร้างพลังบวกและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อีกด้วย

ชนวนการประท้วงใหญ่

อ.ดร.อาร์ม มองว่า การประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่ลุกลามจนกลายเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยและการกดดันให้ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงลาออกจากตำแหน่งเป็นเพียง "ยอดของภูเขาน้ำแข็ง" เท่านั้น เนื่องจากชนวนการประท้วงเกิดจากปัญหาที่บ่มเพาะมานาน ได้แก่

1. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในฮ่องกงกำลังประสบปัญหาค่าครองชีพและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงเกินเอื้อม นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ฮ่องกงยังหางานลำบาก เนื่องจากบริษัทหลายแห่งต้องการแรงงานทักษะสูงจากแผ่นดินใหญ่เป็นหลักเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

2. ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ฮ่องกงเริ่มมีอัตลักษณ์ (identity) ของความเป็นฮ่องกงมากขึ้นทั้งการเชิดชูแนวคิดเสรีนิยม การเรียกร้องประชาธิปไตย และความรู้สึกห่างเหินจากจีนแผ่นดินใหญ่จนเกิดช่องว่างขึ้นในสังคมอย่างชัดเจน

ฮ่องกงสำคัญต่อจีนอย่างไร

ตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันฮ่องกงถือเป็นจุดเชื่อมโยงจีนแผ่นดินใหญ่กับชาติตะวันตก นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อรัฐบาลจีนในมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางการเมืองอีกด้วย

1. มิติทางเศรษฐกิจ

เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศยุทธศาสตร์ Greater Bay Area ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญทางภาคใต้ของจีน 11 เมือง ได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า กว่างโจว เซินเจิ้น จูไห่ ฝอซาน ฮุ่ยโจว ตงกวน จงซาน เจียงเหมิน และจ้าวซิ่ง 

ยุทธศาสตร์ Greater Bay Area มีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางทางเทคโนโลยี และศูนย์กลางทางการบินให้เป็นรูปเป็นร่างในปี 2578 หรืออีก 16 ปีข้างหน้าทัดเทียม Silicon Valley ของสหรัฐอเมริกา โดยฮ่องกง มาเก๊า กว่างโจว และเซินเจิ้นถือเป็น 4 เมืองหลักของยุทธศาสตร์ดังกล่าว 

2. มิติทางการเมือง

ฮ่องกงเป็นตัวแทนของการปกครองตามหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบที่ผนวกรวมฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนแต่ขณะเดียวกันก็ให้อิสระในการบริหารจัดการด้านต่างๆ ยกเว้นการทหารและการต่างประเทศ เป็นเวลา 50 ปี (ปี 2540-2590) ความสำเร็จของหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบในฮ่องกงจึงเป็นเดิมพันสำคัญ เนื่องจากจีนตั้งเป้าจะนำหลักการนี้ไปใช้กับไต้หวันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การปกครองตามหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบของจีนกำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงที่เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 22 ปี ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา

พงศธัช สุขพงษ์

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง