“เด็กแว้น” ชีวิตที่ซับซ้อนกว่าภาพถ่าย ในสายตาของ “พรรษพล”

สังคม
13 ส.ค. 62
08:40
3,827
Logo Thai PBS
“เด็กแว้น” ชีวิตที่ซับซ้อนกว่าภาพถ่าย ในสายตาของ “พรรษพล”
ชีวิต "เด็กแว้น" คนกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ถูกมองด้วยอคติเชิงลบ แต่ "พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์" ว่าที่บัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เลือกเล่าชีวิตอีกด้าน จากการค้นคว้าและศึกษาข้อมูลมาเกือบ 10 ปี และถ่ายทอดผ่านผลงานภาพถ่ายกว่า 100 ชิ้น

เดินชม Moire art Thesis Exhibition ผลงานแสดงศิลปะนิพนธ์ ของนักศึกษา ภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ชิ้นแล้วชิ้นเล่า ทั้งประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย สื่อผสม ฯลฯ รวมทั้งสิ้นกว่า 90 ชิ้น

เตะตากับภาพถ่าย 2 ภาพ ภาพแรกเป็นลายสักที่ขาขวา ของชายที่กำลังขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนอีกภาพเป็นภาพรถจักรยานยนต์ เรียงหน้ากันเตรียมออกตัวแข่งขัน เหมือนเด็กแว้นที่เราพบเห็นบนท้องถนน

หนึ่งในภาพถ่ายที่จัดแสดงในงานศิลปะนิพนธ์ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

หนึ่งในภาพถ่ายที่จัดแสดงในงานศิลปะนิพนธ์ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

หนึ่งในภาพถ่ายที่จัดแสดงในงานศิลปะนิพนธ์ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

 

หนึ่งในภาพถ่ายที่จัดแสดงในงานศิลปะนิพนธ์ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

หนึ่งในภาพถ่ายที่จัดแสดงในงานศิลปะนิพนธ์ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

หนึ่งในภาพถ่ายที่จัดแสดงในงานศิลปะนิพนธ์ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

 
ไม่เพียงแต่ภาพที่น่าสนใจ แต่ชื่อภาพชุดนี้ ก็ทำให้มีคำถาม “ทำทรงนิยมซิ่ง” (The Subculture of Teenager and Motorcycle in Thailand) คืออะไร

หากมองผ่านไปก็เป็นภาพถ่ายธรรมดา แต่สำหรับผมเชื่อว่ามีอะไรมากกว่านั้น เพราะหากมองย้อนลึกลงไป “กว่าจะได้ผลงานชิ้นนี้มา” ไม่ใช่เพียงแค่เราจะถือกล้องถ่ายภาพ แล้วออกไปขอถ่าย “ลายสัก” ที่ขาของใครก็ได้ โดยเฉพาะ “เด็กแว้น” และภาพชีวิตของเด็กแว้นบนท้องถนนหรือแม้แต่ในสนามแข่ง

พรรษพล เขมนิพิฐพนธ์ ว่าที่บัณฑิต ภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง

พูดคุยถึงแรงบันดาลใจในผลงานของเขา ซึ่งเชื่อว่ายังมีมากกว่านั้น

 

 

 

 

พรรษพลเล่าถึงสิ่งที่มองเห็นในความเป็นเด็กแว้น และแรงบันดาลใจก่อนจะผลิตงานชิ้นนี้ว่า งานชุดแรกของเขาเป็นเรื่องสนามแข่งรถจักรยานยนต์ ทำให้เห็นมิตรภาพของคน ความรักรถจักรยานยนต์ ความมีตัวตนของคนที่มาแข่งรถกัน มิตรภาพที่คนมีต่อคน ความรู้สึกที่คนมีต่อรถ นำเสนอตรงนี้ขึ้นมา กิจกรรมที่มันเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง

ผมอยากเสนอในแง่ดีว่า เขามาแข่งในสนามนะ เด็กแว้นไม่ได้มีแต่บนถนน การสร้างวัฒนธรรม ที่มีคนสนใจ มันก็จะมีเรื่องดีๆ ขึ้นมา ให้เห็นสไตล์การแต่งรถ การแต่งตัว อันนั้นก็ครอบคลุมไปด้วย พอไปเป็นกลุ่มมันก็ดูดี เท่ห์ เป็นวัฒนธรรมของพวกเขา

 

 

พรรษพลไม่ได้ถ่ายภาพรถแข่ง หรือเด็กแว้น เพียงชุดเดียว หรือเพียงแค่ถ่ายภาพเท่านั้น แต่เขาใช้เวลาเกือบสิบปี ทั้งเก็บข้อมูล ศึกษาข้อมูล และวิเคราะห์วิถีของเด็กแว้นด้วย

ผลงานอีกชุดหนึ่งของพรรษพลจึงสะท้อนให้เห็น มิตรภาพในสนามแข่งรถ อารมณ์ความรู้สึกของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ที่มายังสนามแข่งรถแล้วมีความสุข จึงอยากมาและกลับมาอีก ซึ่งจะเห็นว่าคนที่สนใจการแข่งรถหรือเด็กแว้น มีทุกเพศทุกวัย เช่น พ่อแม่บางคนพาลูกซึ่งยังเล็กอยู่มากมาด้วย

 

พรรษพล บอกว่า นี่คือ ส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเด็กแว้น เพราะเด็กแว้นจำนวนหนึ่งมีลูกเร็ว หรือตั้งครรภ์เมื่ออายุยังน้อย เมื่อพ่อแม่มีลูกจึงพาลูกมาที่สนามแข่งด้วย ทำให้เด็กซึมซับกับสิ่งเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว

การมาที่สนามแข่ง หรือมารวมตัวกัน มาเพื่อจอดรถโชว์กัน อวดกัน ซึ่งมีกลุ่มเด็กแว้นให้ความสนใจมาดู และการแข่งรถแต่ละรอบ จะมีเรื่องของความนับถือ ความเชื่อใจในแต่ละอู่ที่มีความสามารถในการแต่งรถทั้งเครื่องยนต์และตัวถัง

พรรษพลเล่าว่า การทำงานศิลปะภาพถ่าย เรื่องราวหลายชุดของเด็กแว้น เขาต้องการสะท้อนให้เห็นอีกด้านของความเป็นเด็กแว้น

คนทั่วไปมองเด็กแว้น ก็มองแบบติดลบอยู่แล้ว ผมอยากสะท้อนกลับ อีกมุมหนึ่งอีกด้านหนึ่ง เด็กแว้นเขาทำอะไร ชีวิตจริงๆ คืออะไร การแต่งรถ คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นรถธรรมดาก็ขี่ได้ แต่สำหรับเด็กแว้น เขาชอบเพราะมันสวย แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน

พรรษพลบอกอีกว่า เมื่อเขามีโอกาสเข้าไปสัมผัสชีวิต และถ่ายภาพ ทำให้พบความจริงหลายอย่างที่คนภายนอกไม่รู้ หรือรู้แต่ตัดสินไปด้วยอคติเชิงลบ แทนที่จะทำความเข้าใจว่า คนกลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มของสังคมทั่วไป เหมือนคนขับรถยนต์ หรือขี่รถบิ๊กไบท์ และไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าการแว้นรถจักรยานยนต์สร้างความสุขให้กับคนกลุ่มนี้อย่างไร

สิ่งที่สะท้อนกลับมา หลังจากแสดงผลงานไปแล้วหลายครั้ง ก็แตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนเข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น ว่า มิติของสังคมของคนกลุ่มนี้ มันมีอย่างนี้อยู่จริง และผมก็ไม่ได้ต้องการให้สังคมเปลี่ยนมามองว่า เด็กแว้นเป็นคนดีไปทุกอย่าง อย่างน้อย ก็ให้รู้ว่าเด็กแว้นคิดอย่างนี้นะ ไม่ได้แย่เสียทีเดียว

ช่างภาพคนนี้ยังเล่าต่อว่า เขาเคยนำผลงานชุดหนึ่งไปแสดง เป็นชุดอะไหล่ของรถจักรยานยนต์ที่แต่ง มีคนสนใจมากมาย ซึ่งมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ และส่วนใหญ่คนเข้าใจเด็กแว้นมากขึ้น แต่จะให้คนส่วนใหญ่เข้าใจ คงยากถ้าไม่ได้มาสัมผัส หรือไม่ชอบจริงๆ ก็จะไม่เข้าใจ

 

 

เมื่อถามถึงการศึกษาข้อมูลที่ทำมาก่อนที่จะผลิตงานศิลปะภาพถ่ายหลายชุด เขาได้คำตอบ ในเชิงความรู้ใหม่อะไรบ้างหรือไม่

พรรษพลบอกว่า ส่วนใหญ่ข้อมูลที่ได้รับมาไม่ใหม่จากที่เคยพบหรือรับรู้มา แต่เป็นมุมมองที่ลึกลงไป เช่น ตอนเด็กคนกลุ่มนี้ก็ไม่รู้ว่าต้องการเท่ห์ไปเพื่ออะไร แต่พอโตขึ้นจึงรู้ว่า เท่ห์ก็เพื่อทำให้มีตัวตน มีสถานภาพ คนก็ยิ่งยอมรับเรา มีคนในกลุ่มนี้เคารพนับถือเรา

และที่พบข้อมูลอีกคือ เราคิดว่าในกลุ่มเด็กแว้น ที่เรามองว่าเป็นกลุ่มย่อยของสังคมแล้ว กลับยังมีกลุ่มที่ย่อยๆ ลงไปอีก เช่น กลุ่มแต่งรถเหมือนกัน ประเภทรถเดียวกัน การแว้นที่มีบุคคลิกเหมือนกัน ของสถานที่แต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน

 

 

การรวมตัวเพื่อขี่รถมากเกินไป หรือการกระทำที่เกินขอบเขต สร้างความเดือดร้อนรำคาญ แต่ละกลุ่มก็คิดหรือทำไม่เหมือนกัน

พรรษพลเล่าด้วยว่า ไม่เพียงแต่การรวมกลุ่มโดยพฤตินัย แต่ช่องทางการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย ก็มีผลต่อความเปลี่ยนแปลง หรือพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มเหมือนกัน ปัจจุบันมีเพจเฟซบุ๊กจำนวนมาก ที่เปิดเป็นสาธารณะ ซึ่งคนกลุ่มนี้ใช้สื่อสารกัน เพื่อเผยแพร่ภาพของกลุ่มตัวเอง และกลุ่มอื่นๆ มีการแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งหากกลุ่มไหนสร้างอีเว้นท์ในเฟซบุ๊กได้ ยิ่งจะมีคนเข้ามาเป็นสมาชิกหรือแฟนเพจมากขึ้น เหมือนเป็นอีกสังคมหนึ่งที่ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนกัน ได้รู้มุมมองของคนอื่น

 

 

ผลงานภาพถ่ายของพรรษพลกว่า 100 ภาพ ที่เขาบันทึกไว้ ในมุมมองต่างๆ และแสดงไปแล้วตามสถานที่ต่างๆ จึงไม่ใช่เพียงแค่ภาพถ่ายสวยงาม หรือผลงานทางศิลปะเท่านั้น แต่ภาพเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นมิติหรือมุมมอง ของกลุ่ม “เด็กแว้น” ที่ต้องการบอกเล่าให้สังคมรับรู้เพื่อเข้าใจในความแตกต่าง ซึ่งพรรษพลบอกว่า

อย่างน้อยสังคมก็น่าจะเข้าใจว่ามันมีอยู่จริง ส่วนที่เหลือคงเป็นเรื่องของทัศนคติของแต่ละคน

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบทั้งหมดในงานเขียนชิ้นนี้ เป็นผลงานของพรรษพล เขมนิพิฐพนธ์ นักศึกษาภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ซึ่งถ่ายขึ้นเป็นผลงานทางศิลปะ และเป็นเพียงมุมมองหนึ่งเท่านั้น 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง