เปิดภาพช้างในวัฒนธรรมท่องเที่ยวศรีลังกา "สภาพผอมโซ"

สิ่งแวดล้อม
14 ส.ค. 62
10:33
2,772
Logo Thai PBS
 เปิดภาพช้างในวัฒนธรรมท่องเที่ยวศรีลังกา "สภาพผอมโซ"
องค์กรอนุรักษ์ ตั้งคำถามช้างในศรีลังกาที่ใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมีสภาพผอมโซ เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ขาดการดูแลทางสวัสดิภาพ ขณะที่นักวิชาการไทย ระบุควรรักษาสายพันธุ์ช้างก่อนเสี่ยงสูญพันธ์ุ

วันนี้ (14 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก สัตว์:สิทธิและโอกาส - Thailand Animal Rights Alliance ได้เผยแพร่ภาพที่ช้างที่มีสภาพผอมโซเห็นหนังหุ้มกระดูก จำนวน 4 ภาพ พร้อมระบุว่าเป็นช้างที่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การทารุณกรรมชีวิตช้าง ที่ฉาบเคลือบด้วยคำอ้างแห่งวัฒนธรรม สภาพร่างช้างแก่คราวทวด ที่สภาพของร่างกายเหมือนซากศพเดินได้นี้คงไม่ต้องอธิบายกันว่า ชีวิตของเค้าถูกสูบเลือดสูบเนื้อใช้ประโยชน์ โดยไม่มีสวัสดิภาพชีวิตรองรับและอยู่อย่างทารุณกรรมมายาวนานขนาดไหน? 

Tara ระบุว่า สภาพร่างที่เสมือนซากศพเดินได้นี้ ต้องเดินแบกน้ำหนักของชุดไฟตั้งแต่หัวค่ำยันใกล้รุ่งทุกวัน ผิวหนังและดวงตาต้องทนกับความแสบร้อนของหลอดไฟ และเครื่องจ่ายไฟที่ประกบติดกับลำตัว ต้องเดินท่ามกลางเสียงอึกทึกจากการจุดประทัดและเครื่องเสียงตลอดทาง เดินย่ำไปบนท้องถนนที่แสบร้อนท่ามกลางควันไฟที่หนาทึบจากการจุดประทัดและเผาเนื้อมะพร้าว

ระบุช้างถูกพันธนาการด้วยโซ่

หนำซ้ำเท้าทั้ง 4 ผูกโซ่อย่างแน่นหนาเดินไปบนท้องถนนที่เสียงโซ่กระทบดังไปตลอดทาง ไม่มีใครมองเห็นร่างกายที่ผอมเกร็ง อ่อนล้า ที่ซ่อนภายใต้ผืนอาภรณ์ที่ประดับ และไม่มีใครใส่ใจมองเห็นร่องรอยแผลเป็นนับไม่ถ้วนตามขาและร่างกายที่ถูกหอกทิ่มแทงมาไม่รู้กี่สิบปี กลางวันก็ถูกพันธนาการยืนจมอึฉี่ตัวเองแทบจะตลอดเวลา เพื่อเป็นสิ่งของประกอบความน่าศรัทธาภายใต้คำว่าวัฒนธรรม 

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ล้วนเกิดจากคำอ้างของมนุษย์บางคนชอบเอ่ยถึงแต่คำว่าวัฒนธรรมนั้นแตะต้องไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วกิจกรรมมนุษย์ต่างๆที่เกิดขึ้น ที่จนกลายเป็นคำอ้างว่าวัฒนธรรมนั้น ต่างก็ล้วนถูกปรุงแต่งตลอดเวลา อย่างการนำชีวิตช้างมาใช้ในเทศกาลเพราเฮลานี้ ก็พึ่งจะมีมาไม่ถึง 70 ปี

ก่อนหน้านี้ ดั้งเดิมเป็นเพียงพิธีกรรมการเดินขอฝนที่อัญเชิญสิ่งมงคลของชาวบ้าน แต่ด้วยเม็ดเงินของธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโต เริ่มมีการนำช้างมาใช้ประดับบารมีและวัฒนธรรม เพื่อสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ เริ่มต้นจากเพียงแค่ 1 วัด ปัจจุบันกลายเป็นการขยายไปทั่วหลายพื้นที่ เพื่อแย่งชิงความสนใจของนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ของตน จนลืมแก่นแท้ทางพุทธศาสนาคือเมตตา

เรา Tara อยากให้ทุกคนลองคิดดูว่า กิจกรรมสิ่งที่เราสามารถเอ่ยเรียกวัฒนธรรมและประเพณีนั้นด้วยความภูมิใจได้ มันควรจะเป็นการกระทำแบบไหน? ควรเป็นการกระทำที่อยู่บนพื้นฐานที่มีแต่สิ่งที่ดีต่อทุกสรรพชีวิต หรือเป็นกิจกรรมที่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตนแต่ยืนอยู่บนพื้นฐานการทารุณกรรมชีวิตอื่นๆ 

อ่านข่าวเพิ่มเติม เตรียมยื่นรายชื่อค้านส่งออกช้างถึงมือ "วราวุธ" 22 ก.ค.นี้

และยิ่งโลกยุคปัจจุบัน ที่ประชาคมโลกส่วนมากต่างตื่นรู้เกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์และการทารุณกรรมสัตว์ที่ไม่อาจยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ และเป็นยุคที่ข่าวสารไปไว เพราะหลังจากภาพเหล่านี้ถูกโพสจากผู้พบเห็น เรื่องสลดใจนี้ลงเพียง 1 วัน เรื่องนี้ต่างถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกด้วยระยะเวลาอันสั้น เกิดการตั้งคำถาม ประนาฌ เรียกร้องจากทั้งสังคมโลก ให้ทางการศรีลังกา ยุติการทารุณกรรมสัตว์จากการใช้ประโยชน์จากชีวิตช้างโดยการอ้างวัฒนธรรมแต่ส่งผลลบต่อชีวิตอื่น เพราะในศตวรรษที่ 21 นี้ที่รูปแบบของการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยงเชิงรับผิดชอบ นักท่องเที่ยวหมู่มากจากทั่วโลกต่างไม่ยอมรับต่ออะไรก็ตามที่เป็นการทำร้ายสัตว์และธรรมชาติอีกต่อไป 

จนรัฐบาลศรีลังการีบพิจารณาหาทางแก้ไขในวันนี้ เพราะเกรงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่นำเสนอถึงบุญกุศลความเมตตา ที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักสำคัญ

วอนอนุรักษ์สายพันธุ์ช้างไทยห่วงถูกส่งออกไปต่างแดน

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายประสพ ทิพย์ประเสริฐ ที่ปรึกษามูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ช้างในประเทศศรีลังกามีจำนวนลดลงในช่วงระยะเวลาหลายสิบปี กระทั่งต้องทำเรื่องมาขอช้างไทยเพื่อใช้ในการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว และทำให้มีช้างไทยหลายเชือกทีี่ยังอยู่ที่ศรีลังกา เพื่อทำหน้าที่ในการอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ไม่ได้กลับมาทไย

สิ่งที่น่าห่วงคือแม้แต่ศรีลังกาที่เคยมีช้างลักษณะดีมาก ยังมีประชากรลดลงจนต้องขอช้างจากไทย ดังนั้นไทยควรต้องดูแลและอนุรักษ์สายพันธุ์ช้างที่ดีๆให้อยู่คู่บ้านคู่เมือง 

นายประสพ กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงพาณิชย์ออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการอนุญาตให้ส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2562 รู้สึกกังวล เพราะหากเรามองจำนวนว่ามีช้างไทยมีมาก แค่ส่งไปต่างแดนแค่ 1-2 ตัวไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามองกลับกันช้างแต่ละตัวมีการดำรงเผาพันธุ์สายพันธุ์ และหากคิดว่าถ้าส่งตัวเดียวไป บังเอิญว่าช้างตัวที่ส่งไปมีคุณสมบัติที่ดีเท่ากับไทยสูญเสียสายพันธุ์ช้างตัวนั้นไป ดังนั้นอยากให้ภาครัฐทำหน้าที่หน้าที่รักษาสายพันธุ์ช้างให้ดีก่อน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกาศกร้าว! "วราวุธ" ไม่ส่งช้างไทยไปเมืองนอก

“นิกร” เสนอชะลอระเบียบส่งออกช้าง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง