"ประวิตร" ติดตามภัยแล้ง เคาะงบบูรณาการน้ำ 1.8 แสนล้านบาท

สิ่งแวดล้อม
14 ส.ค. 62
15:13
373
Logo Thai PBS
"ประวิตร" ติดตามภัยแล้ง เคาะงบบูรณาการน้ำ 1.8 แสนล้านบาท
"พล.อ.ประวิตร" ประชุมติดตามภัยแล้งและพิจารณางบประมาณบูรณาการด้านน้ำ วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท กำชับแผนงานต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำและนโยบายรัฐบาล พร้อมวางแผนปรับลดการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา

วันนี้ (14 ส.ค.2562 ) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามแก้ปัญหาภัยแล้ง และพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปี 2563 โดยระบุภายหลังการประชุมว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้เร่งดำเนินมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง 3 ระยะ โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามผลการดำเนินงานและรายงานต่อ ครม. ส่วนการพิจารณางบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2563 จะต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำและนโยบายของรัฐบาล จัดลำดับความสำคัญเพื่อลดความซ้ำซ้อนของแผนงานโครงการ

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมในปัจจุบัน ปริมาณฝนที่ตกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 11 ส.ค.2562 มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 1% และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มากกว่าค่าเฉลี่ย 3% สำหรับการคาดการณ์ฝนในระยะ 3 เดือนต่อจากนี้ เดือน ส.ค. ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันออก, เดือน ก.ย. ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ ส่วนเดือน ต.ค. ปริมาณฝนในทุกภาคต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ประมาณ 10%

สมเกียรติ ประจำวงษ์

สมเกียรติ ประจำวงษ์

สมเกียรติ ประจำวงษ์

ขณะที่พายุโซนร้อนวิภา ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เขื่อนใหญ่มีน้ำเพิ่ม 1,560 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปริมาณน้ำปัจจุบัน มีน้ำผิวดินทั้งประเทศ 40,062 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 49% โดยภาคเหนือ กลาง อีสานและตะวันออก มีน้ำน้อยกว่า 50% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% มีถึง 26 แห่ง ส่วนสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การ 1,457 ล้าน ลบ.ม. ระบายวันละ 21 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีน้ำมาเติมจะระบายได้อีก 54 วัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมวางแผนการปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยาแบบขั้นบันได้ เพื่อสำรองปริมาณน้ำไว้ต้นฤดูแล้งในปี 2562/2563 จำนวน 348 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อการประปานครหลวง จำนวน 15 ล้าน ลบ.ม.

 

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาวงเงินงบประมาณบูรณาการด้านน้ำ จำนวน 1.8 แสนล้านบาท ที่เสนอเพิ่มเติม โดยหน่วยงานต่างๆ รวม 9 หน่วยงาน จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่งบประมาณบูรณการด้านน้ำได้รับจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวในรัฐบาลชุดที่ผ่านมากว่า 1.6 แสนล้านบาท แต่หลังจากนี้งบประมาณดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาโดยสำนักงบประมาณอีกครั้งและอาจถูกปรับลดไปประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่เสนอไป ซึ่งคาดว่างบประมาณบูรณาการน้ำที่จะได้รับการสนับสนุนจริงอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง