เครือข่ายประชาชน จับตาไม่ร่วมจ่ายบัตรทอง ทำได้จริงหรือไม่

สังคม
15 ส.ค. 62
17:10
1,352
Logo Thai PBS
เครือข่ายประชาชน จับตาไม่ร่วมจ่ายบัตรทอง ทำได้จริงหรือไม่
เครือข่ายประชาชน 9 ด้าน ยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงระบบบัตรทอง จับตาร่วมจ่ายบัตรทองหรือไม่ หลังรมว.สธ.ประกาศไม่มีนโยบายแน่นอน

วันนี้ (15 ส.ค.2562) หลังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ออกมายืนยันว่าไม่มีนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่ายในสมัยที่เป็นรัฐมนตรี เพราะจะไม่เอาภาระไปให้ประชาชน ล่าสุด นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ บอกว่า เมื่อรมว.สาธารณสุขประกาศเช่นนั้น ก็ขอให้ขีดเส้นใต้เอาไว้ว่าการร่วมจ่ายจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งโดยหลักการการร่วมจ่ายหลังป่วยต้องไม่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะมีการร่วมจ่ายก่อนป่วยด้วยการเสียภาษีทุกคนอยู่แล้ว

อีกประเด็นที่อยากขอให้ รมว.สาธารณสุข ไปล้วงลูกลงมาดูประเด็นที่โรงพยาบาลยังมีการใช้ช่องว่างเรียกส่วนต่างจากค่าวัสดุทางการแพทย์ เพราะโรงพยาบาลยังบอกว่าไม่ครอบคลุมบัตรทอง จึงต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการร่วมจ่ายที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นทุกวัน

ปัจจุบันการร่วมจ่ายเกิดขึ้นทุกวัน และเกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุทางการแพทย์ หรือ อาหารเหลว เป็นการเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม 

ปกติแล้วค่าใช้จ่ายทั้งหมดถูกจัดอยู่ในงบฯ รายหัว เป็นภาษีที่ประชาชนทุกคนจ่ายไป และในเมื่อรัฐบาลบอกว่ามีเงิน ดังนั้นเวลาเคาะงบฯ รายหัว ก็ควรอนุมัติตามที่ขอไป และที่จ่ายจริง เพื่อให้ไม่กระทบกับระบบบริการ เพราะในอดีตงบฯ รายหัวที่ขอไป 5,000 บาท ได้แค่ 3,000 บาทเท่านั้น ทำให้ต้องมีการบริการจัดการงบฯ ให้ดี


นายนิมิตร์ บอกด้วยว่า ในวันที่ 5 กันยายน 2562 จะเข้าพบกับนายอนุทินอีกครั้ง เพื่อหารือเชิงนโยบาย 3 ประเด็น คือ เสนอให้รมว.สาธารณสุข พิจารณาทำอย่างไรให้หน่วยบริการทุกแห่งในประเทศไทย อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพระบบใดระบบหนึ่ง เพราะปัจจุบันรพ.เอกชน เลือกไม่อยู่ก็ได้ จนทำให้เกิดการลอยแพ

เรื่องต่อไป คือ ต้องการให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกคนมีสิทธิ์เลือกระบบรักษาพยาบาลของตัวเองว่าจะเลือกอยู่กับบัตรทอง หรือ ประกันสังคม ต้องมีสิทธิ์เลือก ซึ่งจะทำได้หรือไม่ และอีกข้อเสนอ ซึ่งเป็นเรื่องหลัก และจุดยืนของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ต้องการให้ยุบรวมกองทุน 3 กองทุนเข้าด้วยกัน

 

วันเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้าน ได้แก่ เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายคนไทยไร้สิทธิ/คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพช่องปาก และเครือข่ายผู้หญิง ยังได้ยื่นข้อเสนอต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 ด้าน ประกอบด้วย ขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต / มาตรฐานบริการสาธารณสุข / การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับชาติและท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง