"ธนาธร" ชี้ประเทศไปต่อไม่ได้ หากไม่กระจายอำนาจ

การเมือง
16 ส.ค. 62
18:11
4,218
Logo Thai PBS
"ธนาธร" ชี้ประเทศไปต่อไม่ได้ หากไม่กระจายอำนาจ
"สถาบันพระปกเกล้า - นักการเมือง" ปักหมุดพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น "ธนาธร" ชี้ ถ้าไม่กระจายอำนาจ คน งบฯ ให้ท้องถิ่น ประเทศเดินหน้าไม่ได้ ด้านนักการเมือง-อปท.เห็นพ้อง ต้องปลดล็อกกฎหมาย "นิพนธ์" รมช.มท.ระบุ หากเป็นไปตามกรอบปีงบฯ เลือกตั้งเร็วสุดต้นปี 63


วันนี้ (16 ส.ค.2562) สถาบันพระปกเกล้า โดยวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น จัดสัมมนา "Next Station ปักหมุดเลือกตั้งท้องถิ่น เตรียมความพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่น" ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 รวมถึงกฎหมายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องอย่างน้อย 6 ฉบับ เพื่อเตรียมความพร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

 

รศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า มีความจำเป็นที่ท้องถิ่นและผู้นำชุมชนต้องเตรียมความพร้อม เพราะห่างหายบรรยากาศการเลือกตั้งท้องถิ่นไปนานถึง 5 ปี ซึ่งเวลานี้ ทุกฝ่ายพร้อมแล้ว ทั้งกฎหมาย พรรคการเมือง กลุ่มองค์กรท้องถิ่น ที่จะลงแข่งขัน เหลือเพียงการตัดสินใจของผู้บริหารประเทศ เพื่อคืนโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้เลือก ว่าใครจะเข้ามาดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในอีก 4 ปีข้างหน้า

 

ช่วงเสวนา "อนาคตท้องถิ่นไทย : การเมืองระดับชาติสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่น" มีตัวแทนพรรคการเมือง คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นายโกวิทย์ พวงงาม ประธานยุทธศาสตร์ด้านนโยบายพรรคพลังท้องถิ่นไทย, นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รมช.กระทรวงมหาดไทย รวมถึงนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และ ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินการเสวนาโดย รศ.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า โดยมีการร่วมอภิปรายถึงคุณค่าของการเมืองท้องถิ่น และความสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติที่เปลี่ยนแปลงไป จากปรากฏการณ์การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

นายพงษ์ศักดิ์ ในฐานะนายกเทศมนตรีนครยะลาหลายสมัย ระบุถึงความจำเป็นที่พรรคการเมืองใหญ่ ต้องเข้าใจปรัชญาของท้องถิ่น ที่ต้องมีความเป็นอิสระและมีอำนาจจัดการตนเอง ไม่ใช่การเป็นฐานเสียงให้การเลือกตั้งระดับชาติ 

ต่อคำถามว่า ในฐานะที่เป็นผู้สมัครอิสระ ไม่เคยสังกัดพรรคใด และครองใจชาวจังหวัดยะลายาวนาน กังวลหรือไม่กับการเปิดตัวของหลายพรรคในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ นายพงษ์ศักดิ์ ระบุว่า ไม่กังวล เพราะเวทีประชาธิปไตย ยิ่งเปิดกว้าง ประชาชนยิ่งได้ประโยชน์

 

 

เพราะเวทีประชาธิปไตยเป็นเวทีเปิดกว้าง ยิ่งมีทางเลือกให้ประชาชนมาก ก็เป็นโอกาสของการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นปกติของการเลือกตั้งในทุกระดับ ที่ต้องมีความขัดแย้ง แต่เมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้ง นั่นสะท้อนค่านิยมประชาธิปไตย หากพ่ายแพ้ก็ยอมรับตามกติกา


นายพงษ์ศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า การปลดล็อกกิจกรรมท้องถิ่น ปลดล็อกการกระจายอำนาจอย่างเต็มศักยภาพ จะช่วยให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นเติบโต ส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวตามไปด้วย

ด้าน ผศ.ประจักษ์ ระบุว่า ค่านิยมประชาธิปไตยสร้างได้ง่ายที่สุดในระดับการเมืองท้องถิ่น ดังนั้น การกระจายอำนาจทำให้เกิดทั้งคุณค่าของสถาบันการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ขณะที่ความสัมพันธ์ของการเมืองท้องถิ่นกับพรรคการเมืองระดับชาติ ที่ผ่านมา แม้มีการมองพรรคการเมืองกับการเมืองท้องถิ่นในแง่ลบ แต่พรรคการเมืองกลับมีบทบาทและความสัมพันธ์กับ อปท.อย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่มีสถาบันทางการเมืองเข้าไปกำกับอย่างจริงจัง ทำให้ไม่เห็นการแข่งขันกันเชิงนโยบาย

ผศ.ประจักษ์ เสนอให้มีการปรับบทบาทสาขาพรรคการเมืองในภูมิภาค ให้ทำหน้าที่มากกว่าการเป็นสำนักงานหรือสาขาของพรรค แต่ควรมีชีวิตชีวา ขับเคลื่อนนโยบายของพรรคได้ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น รวมถึงต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้น ไม่ว่าผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับเลือกจะเป็นคนเก่งหรือมีความสามารถมากแค่ไหน แต่ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะติดล็อกข้อจำกัด

 

 

ต้องปรับโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่ ระหว่างความสัมพันธ์รัฐส่วนกลางกับท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากทำได้ จะเป็นเครื่องมือป้องกันการรวมศูนย์อำนาจแบบเผด็จการ เพราะภูมิทัศน์โดยรวมของสังคม ทั้งวิธีคิดของคน รูปแบบการเลือกตั้ง การหาเสียง ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปหมด 


ด้านนายธนาธร ยกตัวอย่างการอภิปรายวาระหารือในสภาผู้แทนราษฎร ที่ ส.ส.ทำหน้าที่นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนระดับพื้นที่ แต่ไม่มีอำนาจแก้ไข ทำได้เพียงสะท้อนปัญหา เพื่อรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งการ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของการออกแบบรัฐที่ไม่ตอบสนองประชาชน ซึ่งอำนาจที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางแบบนี้ ทำให้ปัญหาในประเทศไทยมีจำนวนมาก และไม่ได้รับการแก้ไข 

นายธนาธร ยังระบุถึง เหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่ ตัดสินใจลุยสนามเลือกตั้งท้องถิ่นในนามของพรรค เพราะความต้องการที่จะปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์ สร้างประชาธิปไตยจากพื้นฐาน ให้ประชาชนเห็นว่าทั้งอำนาจ งบประมาณ ประชาธิปไตย และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นเรื่องเดียวกัน 

 

 

 

ประเทศไทยจะก้าวหน้าไปไกลกว่านี้ไม่ได้เลยถ้าแข็งแต่หัวแล้วข้างล่างอ่อนแอ ประเทศจะเข้มแข็งก้าวหน้าไปได้ต้องเริ่มจากส่วนที่เล็กที่สุด ดังนั้น สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่อยากเสนอคือการดึงภาษีให้ท้องถิ่นนำมาบริหารได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเอาไปรวมที่กรุงเทพแล้วค่อยแบ่ง ไม่ต้องเอาไปรวมในสภาแล้วไปแย่งกันในสภา เราต้องค่อยๆ ดึงอำนาจมาจากรัฐราชการทีละอำนาจทีละตัว เพื่อเปิดให้ท้องถิ่นค่อยๆ เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตัวเอง


สอดคล้องกับ ศ.โกวิทย์ ที่ระบุว่า รัฐบาลควรมีโรดแมปเลือกตั้งท้องถิ่นที่ชัดเจน เพราะการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการปลดล็อกกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการบริการสาธารณะ โดยเชื่อลึกๆ ว่าประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ถ้าไม่กระจายอำนาจ ทั้งความเหลื่อมล้ำ ความยากจน คนด้อยโอกาส และสวัสดิการสังคม เรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะออกแบบอย่างไร แต่สุดท้ายต้องกระจายอำนาจมาจากรัฐส่วนกลาง

 

 

ต้องทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการร่วมเป็นเจ้าของเมืองที่แท้จริง หากทำได้ ประชาธิปไตยและภาคประชาสังคมจะงอกงาม ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนจะหายไป และมีท้องถิ่นเข้ามาทำหน้าที่แทน


ขณะที่ นายนิพนธ์ ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์กับการกระจายอำนาจ คือ อุดมการณ์คู่กันมาตั้งแต่ก่อตั้งพรรค ซึ่งต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากที่สุด เพราะใกล้ชิดประชาชน รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดการร่างกฎหมายและแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์หลายข้อ เพื่อปูทางไปสู่การกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นหลายครั้ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อจำกัดของการมีเพียง 52 เสียงในสภาฯ นั้นจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ต้องดูบริบทความเป็นไปได้ โดยที่ผ่านมา มีการผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นกลไกสำคัญที่จะปลดล็อกงานต่างๆ ของท้องถิ่น พร้อมยืนยันว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ หากพื้นที่มีความพร้อม ก็จะส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นในนามพรรคเช่นกัน

 

 

คณะกรรมการกระจายอำนาจ ในร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะนี้ อยู่ในชั้นกฤษฎีกา ซึ่งต้องไปติดตาม สาระสำคัญ คือ วางหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ กระจายอำนาจ คน และงบประมาณ เพื่อให้การพัฒนาท้องถิ่นเดินหน้าได้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เองก็พร้อมจะส่งผู้สมัครในนามพรรค ด้วยกลไกสรรหาของพรรค


นายนิพนธ์ ยังระบุอีกว่า ในฐานะ รมช.กระทรวงมหาดไทย โรดแมปเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ วันที่ 17 ตุลาคม นี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่จะใช้เพื่อจัดการเลือกตั้งจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 ซึ่งตามกฎหมายอยู่ในสภาฯ ได้ 105 วัน และวุฒิสภาอีก 15 วัน รวมแล้ว 120 วัน หรือ 4 เดือน กฎหมายงบประมาณจึงน่าจะประกาศใช้ในวันที่ 15 มกราคม 2563 จากนั้น จะสามารถเบิกงบประมาณราว 1,100 ล้านบาท เพื่อใช้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้

 

นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทน อปท.จากทั่วประเทศ ระบุว่า หากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พัฒนาการเมืองท้องถิ่นตามที่ตัวแทนพรรคการเมืองและนักวิชาการเสนอ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง

 

 

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562, พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562, พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2562, พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2562, พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2562, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2562 ซึ่งทั้งหมดประกาศใช้แล้วในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยคาดว่า จะทยอยจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้อย่างเร็วที่สุดเดือนมีนาคม 2563 ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบทั้ง 7,852 แห่งทั่วประเทศ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง